กสม. มีมติให้จัดตั้งส่วนราชการในภูมิภาค เริ่มพื้นที่ภาคใต้เป็นหน่วยงานนำร่อง หวังอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในพื้นที่ ให้สามารถเข้าถึงกลไกการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิตามหลักการปารีส

วันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทำหน้าที่แทนประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในการประชุม กสม. ในฐานะองค์กรกลางบริหารงานบุคคล ครั้งที่ 13/2563 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 มีมติให้จัดตั้ง “สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคใต้” ณ จังหวัดสงขลา เป็นส่วนราชการในส่วนภูมิภาคพื้นที่นำร่องตามรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์ของคณะทำงานศึกษาและวิเคราะห์การจัดตั้งศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเป็นส่วนราชการภายในของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เนื่องจากพื้นที่ภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีกรณีเรื่องร้องเรียนในอัตราสูง มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ภาษา ศาสนา เชื้อชาติและสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สามารถเข้าถึงกลไกการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้โดยง่าย ซึ่งสอดคล้องตามหน้าที่และอำนาจของ กสม. ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 รวมทั้งหลักการเกี่ยวกับสถานะของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ หลักการปารีส (Paris Principles) ที่องค์การสหประชาชาติกำหนดไว้ในส่วนที่เกี่ยวกับการมีสำนักงานฯ ที่ตั้งในภูมิภาค อันจะช่วยสนับสนุนการทำงานของ กสม. ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นางประกายรัตน์ กล่าวต่อไปว่า สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคใต้มีพื้นที่รับผิดชอบในเขต 14 จังหวัดภาคใต้ ประกอบด้วย กระบี่ ชุมพร นครศรีธรรมราช พังงา ภูเก็ต ระนอง สุราษฎร์ธานี ตรัง นราธิวาส ปัตตานี พัทลุง ยะลา สงขลา และสตูล และมีหน้าที่รับผิดชอบใน 3 ภารกิจหลัก ได้แก่ 1) ภารกิจด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน 2) ภารกิจด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และ 3) ภารกิจด้านการเฝ้าระวัสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนในภูมิภาคมีหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชนที่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล โดยมีเป้าหมายในการปฏิบัติงาน ดังต่อไปนี้

  1. เพื่อให้การดำเนินการรับเรื่องร้องเรียนกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนในพื้นที่ ได้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนดอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ล่าช้า รวมทั้งสามารถดำเนินการประสานการคุ้มครองได้อย่างทันเวลา
  2. เพื่อให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่มีความรู้ ความเข้าใจและความตระหนักเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างทั่วถึง
  3. เพื่อให้การเฝ้าระวัง การประเมิน การชี้แจง การให้ความเห็น และการแสดงท่าทีต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพื้นที่เป็นไปด้วยความรวดเร็วและถูกต้อง

…………………………………………

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ