ดร.เอนก มั่นใจ ให้ มรภ.สวนสุนันทาเป็นผู้นำกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ

16 พฤศจิกายน 2563 เวลา 13.30 น. : ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วย นายสำราญ รอดเพชร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงฯ รองศาสตราจารย์ ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงการอุดมศึกษาฯ (อว.) เยี่ยมชมสถานศึกษาและประชุมหารือร่วมกับคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ชุติกาญจน์ ศรีวิบูลย์ รักษาราชการแทนอธิการบดี และคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย ให้การต้อนรับ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

รมว.อว. กล่าวตอนหนึ่งว่า ตนได้ทราบว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทามีการดำเนินงานที่เป็นแม่แบบที่ดีของสังคมในการผลิตบัณฑิตที่มีศักยภาพในด้านต่างๆ ออกไปรับใช้ประเทศหลากหลายด้าน โดยเน้นองค์ความรู้ที่เป็นเอตทัตตะ ฝึกหัดครู ปลูกฝังประชาชนให้สามารถเรียนรู้ในระดับสูง สร้างผลงานมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยเอตทัตตะนานาชาติ ทั้งยังได้รับการจัดอันดับเป็นที่หนึ่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏ (โดยเว็บโอเมตริกซ์) จึงควรยกให้มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาเป็นผู้นำให้กับมหาวิทยาลัยราชภัฏอื่นๆ ในการรับใช้สังคม การยกระดับวิชาการ การขยายสาขาวิชาต่างๆ ที่สอน ซึ่งการช่วยมหาวิทยาลัยราชภัฏอื่นๆ เป็นบทบาทที่สำคัญกว่าการจัดอันดับของโลก แต่จะเป็นอันดับหนึ่งในใจของมหาวิทยาลัยราชภัฏต่างๆ

ดร.เอนก กล่าวต่ออีกว่า ขอฝากเรื่องให้มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทารับไปดำเนินการต่อ ดังนี้ คือ 1. การเชื่อมโยงร่วมกันทำงานกับมหาวิทยาลัยราชภัฏด้วยกัน สถาบันอุดมศึกษา หน่วยงานและสถาบันวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) รวมถึงการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ TASSHA ในการขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาบุคลากรด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ของประเทศ ร่วมกับ อว. รวมถึงการใช้ประโยชน์จากพลังใน อว. ให้เต็มที่ ทั้งด้าน ววน. และด้านอุดมศึกษา (สกอ.เดิม) ให้การส่งเสริมกับสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ โดยมีนโยบายเน้นที่การเอาพันธนาการออกจากสถาบันอุดมศึกษาให้มากที่สุด เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษามีคุณภาพมาตราฐานตามการแบ่งประเภทของสถาบันอุดมศึกษานั้นๆ 2. การสนองพระราโชบายฯ รวมถึงการสร้างความปรองดองให้กับคนในชาติ การสร้างความเข้าใจแบบให้เกียรติกัน มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาต้องเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนในเรื่องนี้ รวมถึงการยกหลักเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นศาสตร์ ซึ่งเป็นศาสตร์หนึ่งในห้าศาสตร์หลักของวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย 3. การถ่ายทอดองค์ความรู้ จากจุดแข็งของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้แก่ ด้านอาหารของสวนสุนันทา และด้านศิลปวัฒนธรรมกรุงรัตนโกสินทร์ โดยอาศัยโมเดลมหาวิทยาลัยแพะนานาชาติ จ.กระบี่ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยของภาคประชาชนที่เกิดจากเรี่ยวแรงและความพยายามของคนในพื้นที่ สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้คนในพื้นที่ (ศรีผ่องฟาร์ม ฟาร์มสาธิตเลี้ยงแพะสภาการศึกษาจังหวัดกระบี่ บ้านน้ำจาน ต.กระบี่น้อย อ.เมือง จ.กระบี่) โดยอาจใช้ชื่อว่า “หอการศึกษา” (เสมือนเป็นหอการค้า ด้านการพานิชย์ของจังหวัด) โดยนำองค์ความรู้เรื่องต่างๆ มาจัดทำในรูปแบบเมนูการศึกษาให้ผู้สนใจสามารถมาเลือกใช้เมนูต่างๆ ได้อย่างอิสระ เมื่อศึกษาจบในแต่ละเมนูแล้วก็จะได้รับใบประกาศนียบัตร (non degree) โดยแต่ละเมนูต้องจัดทำขึ้นจากความต้องการของผู้เรียนเป็นที่ตั้ง และ 4. ให้มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำระบบตำแหน่ง ศาสตราจารย์ปฏิบัติ หรือศาสตราจารย์ศิลปะ เพื่อมอบให้เป็นกำลังใจแก่ผู้ที่ทรงคุณวุฒิที่ทำคุนูปการแก่มหาวิทยาลัย มอบแก่คนนอกที่มาช่วยเหลือกิจการด้านต่างๆ ของมหาวิทยาลัย

…………………………………………………………..