พส. ส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมเชิงรุกที่เน้นผลิตภาพ (Productive Welfare)

วันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๖๑ เวลา ๐๙.๐๐ น. ณ ห้องปรินซ์ แกรนด์ บอลรูม โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เป็นประธานเปิดงาน สมัชชาสวัสดิการสังคมไทยครั้งที่ ๒๖ ประจำปี ๒๕๖๑ “การส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมเชิงรุกที่เน้นผลิตภาพ (Productive Welfare)”

นางนภา กล่าวว่า จากการติดตามประเมินผลการพัฒนาประเทศในระยะแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕ –๒๕๕๙) แม้จะพบว่า ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ระหว่างคนจนกับคนรวยมีแนวโน้มดีขึ้น ประชาชนเข้าถึงบริการทางสังคมและได้รับการคุ้มครองทางสังคมเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ด้อยโอกาสก็ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางสังคมได้อย่างทั่วถึง ซึ่งในอนาคตนั้นมีแนวโน้มที่จะเกิดความเสี่ยงที่อาจจะส่งผลให้เกิดช่องว่างและความไม่เป็นธรรมในสังคมมากขึ้น ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงในระดับโลก ระดับภูมิภาค และประชาคมอาเซียน

นางนภา กล่าวต่อไปว่า การจัดสมัชชาสวัสดิการสังคมไทยครั้งที่ ๒๖ ประจำปี ๒๕๖๑ เป็นการเปิดพื้นที่สาธารณะเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และค้นหาแนวทางการจัดสวัสดิการร่วมกันของภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคม นำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายการกำหนดทิศทางหรือนโยบายในการส่งเสริมการจัดสวัสดิการแบบ Productive Welfare ในบริบทพื้นที่ร่วมกัน ก่อให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในระดับหน่วยงาน องค์กร พื้นที่ ท้องถิ่น และชุมชน เพื่อเสริมสร้างหลักประกันและความมั่นคงในชีวิตของประชาชนครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั่วถึงทุกพื้นที่

กิจกรรมเวทีสมัชชาสวัสดิการสังคมแห่งชาติ ครั้งที่ ๒๖ เป็นการร่วมวิพากษ์ข้อเสนอผลจากสมัชชาสวัสดิการสังคมไทย ในหัวข้อเรื่อง “การส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแบบ Productive Welfare” โดย ศาสตราจารย์ ดร.กิติพัฒน์ นนทปัทมะดุลย์ จากคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายชินชัย ชี้เจริญ จากสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ ดร.สมชัย จิตสุชน จากมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เพื่อผลักดันเป็นมาตรการ/แนวทางในการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมในภาพรวมของประเทศ มีประเด็นเพื่อทำสมัชชาสวัสดิการสังคมจำนวน ๒ ประเด็น ได้แก่ ประเด็นที่ ๑. ทบทวนระบบสวัสดิการสังคม ๔ ระบบ ประกอบด้วย ๑) ระบบช่วยเหลือทางสังคม (Social Assistance) ๒) ระบบบริการสังคม (Social Service) ๓) ระบบประกันสังคม (Social Insurance) และ ๔) ระบบส่งเสริมสนับสนุนหุ้นส่วนทางสังคม (Social Partnership) และประเด็นที่ ๒. แนวทางการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแบบProductive Welfare ประกอบด้วย ๑) รูปแบบการจัดสวัสดิการแบบ Productive Welfare และ ๒) บริบทพื้นที่ควรผลักดันให้เกิด Productive Welfare เพื่อให้รัฐเข้าถึงชุมชนให้ต่อเนื่อง ลดปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และร่วมกันพัฒนาหมู่บ้านให้เป็นระบบ อย่างต่อเนื่อง ยั่งยืน และสามารถพึ่งพาตนเองได้ พร้อมส่งเสริมทุกภาคส่วนให้มีส่วนร่วม

กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ จะนำผลสมัชชาสวัสดิการสังคมไทย ครั้งที่ ๒๖ ประจำปี ๒๕๖๑ ในวันนี้ เสนอเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและแผน เพื่อพิจารณาและเสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ พิจารณาผลักดันเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายด้านสวัสดิการสังคมต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป นางนภา กล่าวในตอนท้าย