“วุฒิไกร” กางแผนปรับโฉมกรมทรัพย์สินทางปัญญาสู่ Smart DIP เตรียมเปิดตัว 3 โปรเจคตอบโจทย์ยุคดิจิทัล

อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเปิดแผนงานปี 2564 ตั้งเป้าปรับโฉมสู่ Smart DIP นำเทคโนโลยี มาเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชนตอบโจทย์ยุคดิจิทัล เผยเตรียมเปิดตัว 3 โครงการ ทั้งการออกหนังสือสำคัญอิเล็กทรอนิกส์ (e-Certificate) บริการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททรัพย์สินทางปัญญาออนไลน์ (Online Dispute Resolution : ODR) และวิเคราะห์เทรนด์เทคโนโลยีและใช้ประโยชน์จาก Big Data ฐานข้อมูลสิทธิบัตร พร้อมให้บริการประชาชนต้นปี 64 นี้

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า “กรมทรัพย์สินทางปัญญา ให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อตอบโจทย์การให้บริการในยุคดิจิทัล โดยวางแผนขับเคลื่อนองค์กรสู่การเป็น “Smart DIP” ตั้งเป้าปรับโฉมงานบริการประชาชนให้อยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างเบ็ดเสร็จครบวงจร เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการของกรมทรัพย์สินทางปัญญาในรูปแบบที่ง่ายขึ้นเพียงปลายนิ้วสัมผัส”

นายวุฒิไกร กล่าวว่า “โครงการแรก “e-Certificate” จะนำเทคโนโลยีมาตอบโจทย์ประชาชนในการออกหนังสือสำคัญแสดงการรับจดทะเบียนรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “e-Certificate” จากเดิมที่ต้องรอหนังสือสำคัญฯ ในรูปแบบกระดาษ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 45-60 วัน หากนำระบบ e-Certificate มาใช้ ประชาชนจะได้รับ e-Certificate ภายใน 15 วันนับจากวันรับจดทะเบียน ส่งผลให้ประชาชนเจ้าของสิทธิสามารถนำทรัพย์สินทางปัญญาที่ได้รับจดทะเบียนไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์และทำธุรกิจได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ ในระยะแรกจะให้บริการ e-Certificate กับการรับจดสิทธิบัตรในช่วงเดือนมกราคม 2564 และเครื่องหมายการค้าในช่วงเดือนมีนาคม 2564”

“โครงการต่อมา “การบริการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทออนไลน์ (Online Dispute Resolution : ODR)” ซึ่งเดิมหากเกิดข้อพิพาทด้านทรัพย์สินทางปัญญา และต้องการให้กรมฯ ดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท คู่กรณีจะต้องเดินทางมาที่กรมฯ เพื่อเจรจาหาข้อยุติ เสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย หากนำระบบ ODR มาใช้ โดยส่งคำร้องขอไกล่เกลี่ยไปทางอีเมลของคู่กรณี เพื่อนัดหมายผ่านระบบออนไลน์ และเจรจาไกล่เกลี่ยผ่านระบบ Video Call โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ระบบดังกล่าวช่วยลดการเผชิญหน้าของคู่กรณี และเกิดการประนีประนอมระหว่างคู่พิพาท ส่งผลให้ลดจำนวนคดีสู่ศาล ทำให้ประชาชนประหยัดค่าใช้จ่ายและประหยัดเวลา โดยคาดจะเปิดให้บริการได้ภายในต้นปี 2564”

“อีกหนึ่งโครงการ คือ “การวิเคราะห์เทรนด์เทคโนโลยีและใช้ประโยชน์จาก Big Data ฐานข้อมูลสิทธิบัตรทั่วโลก” โดยในระยะแรกจะวิเคราะห์แนวโน้มการยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรในไทยช่วง 5 ปีย้อนหลัง (ปี 2558 – 2562) เพื่อให้ผู้ประกอบการ นักธุรกิจไทย นักวิจัย และประชาชนได้ทราบถึงเทรนด์ของเทคโนโลยีโลกในอนาคต สะท้อนการเติบโตของเทคโนโลยีในแต่ละอุตสาหกรรม สามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจในการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยให้ตรงกับแนวโน้มของตลาด ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ โดยจะเผยแพร่ข้อมูลเทรนด์เทคโนโลยีจากฐานข้อมูลดังกล่าวในช่วงต้นปี 2564 นี้เช่นกัน ในระยะต่อไป กรมฯ จะจัดทำระบบแสดงสถานะอายุการคุ้มครองสิทธิบัตร เพื่อให้นักธุรกิจ ผู้ประกอบการไทย นักประดิษฐ์คิดค้น และนักวิจัย ใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลสิทธิบัตรที่หมดอายุหรือกำลังจะหมดอายุการคุ้มครองในการพัฒนาต่อยอดสร้างนวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างเม็ดเงินให้กับธุรกิจไทย โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เช่น อุตสาหกรรมอาหารและยา เภสัชภัณฑ์ ปิโตรเคมี และบรรจุภัณฑ์ชีวภาพ เป็นต้น ซึ่งจากการตรวจสอบในฐานข้อมูลเบื้องต้น พบว่ามีสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรที่หมดอายุหรือกำลังจะหมดอายุกว่า 13,000 รายการที่อาจนำไปพัฒนาต่อยอดได้”

………………………………..