จากผู้ล่าปลาและสัตว์น้ำในท้องทะเล…ที่มีรายได้ไม่แน่นอน สู่ผู้เลี้ยงหอยแมลงภู่…ที่สร้างอาชีพและรายได้ต่อเนื่อง

ตลอดแนวชายฝั่งทะเล จ. ระยอง นอกจากมีชายหาดสวยงามและเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแล้ว ยังเป็นแหล่งรวมสัตว์น้ำเศรษฐกิจหลายสายพันธุ์ อาทิ ปลากะรัง ปลากะพงแดง ปูม้า ปูทะเล หอยหวาน และหอยแมลงภู่ เป็นต้น

บริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด (BLCP) เล็งเห็นถึงความสำคัญต่ออาชีพของกลุ่มประมงเรือเล็ก และท้องทะเลอันเป็นแหล่งทำมาหากินของชาวประมง กอร์ปกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้การจับปลาและสัตว์น้ำแต่ละครั้ง มีค่าใช้จ่ายเรื่องค่าน้ำมันที่ไม่ค่อยคุ้มกับรายได้จากการขายปลาและสัตว์น้ำ บริษัทฯ และกลุ่มประมงเรือเล็กในพื้นที่ ได้ปรึกษาหารือร่วมกัน จากนั้นได้ริเริ่มโครงการเพาะเลี้ยงหอยแมลงภู่แบบแขวน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ถึงปีปัจจุบัน (พ.ศ. 2563) รวม 16 ปีต่อเนื่อง โดยการว่าจ้างผู้ชำนาญการมาฝึกอบรมและสอนวิธีเพาะเลี้ยงหอยแมลงภู่ด้วยตนเอง เพื่อช่วยให้ชาวประมงมีองค์ความรู้จากการทำแพเพาะเลี้ยงหอยแมลงภู่ นำไปสู่การสร้างอาชีพและรายได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งช่วยลดการจับสัตว์น้ำวัยอ่อน ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจาก “ผู้ล่า” ไปเป็น “ผู้เลี้ยง”

ปัจจุบัน ชาวประมงผู้ประกอบอาชีพแพเพาะเลี้ยงหอยแมลงภู่ ประกอบด้วย กลุ่มประมงเรือเล็กตากวน-อ่าวประดู่ จำนวน 73 ราย กลุ่มประมงพื้นบ้านปากคลองตากวน จำนวน 11 ราย และกลุ่มประมงเรือเล็กหาดแสงเงิน จำนวน 7 ราย รวมจำนวน 91 ราย ถือเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงหอยแมลงภู่ที่สำคัญของ จ. ระยอง โดยเฉพาะบริเวณตากวน-อ่าวประดู่สามารถผลิตหอยแมลงภู่ โดยเฉลี่ย 5 ตัน/ราย/รอบการผลิต ในแต่ละปีสามารถผลิตหอยแมลงภู่ รวมประมาณ 500 ตัน/ปี ราคาจำหน่ายหอยแมลงภู่สด อยู่ที่ 20-35 บาท/กก. สามารถสร้างรายได้ให้ชาวประมงได้ถึงวันละ 3-4 พันบาท เฉลี่ยปีละ ประมาณ 12.5 ล้านบาท/ปี (ข้อมูลจากกรมประมงปี พ.ศ. 2561)

นอกจากนี้ กลุ่มประมงดังกล่าวข้างต้น ยังเป็นที่สนใจของคนทั่วไป เนื่องจากการ BLCP ช่วยปรับเปลี่ยนเป็นวิถีของผู้ล่า สู่ผู้เลี้ยงนั้น มีที่มาที่ไปอันยาวนาน สามารถสร้างให้เป็นแหล่งเรียนรู้เชิงนิเวศที่มีผู้สนใจมาศึกษาดูงานตลอดทั้งปี โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 14 พ.ย. 63 รศ.ดร. นริศ ชัยสูตร ประธานสถาบันวิทยาการธรรมศาสตร์เพื่อสังคมและนักบริหารระดับสูง ในหลักสูตร “ธรรมศาสตร์เพื่อสังคม” จำนวน 80 ท่าน ได้ขอศึกษาดูงาน “โครงการเพาะเลี้ยงหอยแมลงภู่แบบแขวน” ณ กลุ่มประมงเรือเล็ก ตากวน – อ่าวประดู่ ที่สนับสนุนและดูแลโดย โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี โดยได้เข้าชมและดูการสาธิตการเพาะเลี้ยงหอยแมลงภู่แบบแขวน ซึ่งในช่วงปลายปีนี้มีอากาศค่อนข้างเย็น จึงเหมาะกับการเจริญเติบโตของหอยแมลงภู่ ทำให้ได้หอยตัวใหญ่ น้ำหนักดี หอยแมลงภู่จะมีความอ้วนพี ในแต่ละวันชาวประมงจะเก็บได้ถึงวันละ 100-200 กิโลกรัม พร้อมกันนี้ ผู้เยี่ยมชมยังมีโอกาสรับประทานหอยแมลงภู่นึ่งและหอยแมลงภู่แปรรูป (อบแห้ง) โดยกลุ่มประมงเรือเล็ก ปัจจุบันจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อแปรรูปหอยแมลงภู่ให้เป็นแบบอบแห้ง มีรสชาติที่อร่อยถูกปาก เก็บไว้ได้นาน เป็นของทานเล่น เป็นกับแกล้ม หรือนำไปปรุงอาหาร เช่น ยำหอยแมลงภู่อบแห้ง เป็นต้น เปรียบเสมือนการต่อยอดอาชีพ เพื่อสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง

นายอดิศร วังมูล ผู้อำนวยการสายงานสนับสนุนองค์กรและองค์กรสัมพันธ์ โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี กล่าวเสริมว่า “ผมเชื่อว่า จังหวัดระยอง มีความพร้อมที่จะพัฒนาศักยภาพในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังคำขวัญของจังหวัดระยองที่ว่า “ผลไม้รสล้ำ อุตสาหกรรมก้าวหน้า น้ำปลารสเด็ด เกาะเสม็ดสวยหรู สุนทรภู่กวีเอก”

ตลอดระยะเวลากว่า 16 ปีมานี้ บีแอลซีพีใส่ใจในทุกๆ ข้อกังวล และให้การดูแลชุมชนโดยรอบโรงไฟฟ้าด้วยความจริงใจ โดยได้จัดทำกระบวนการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ตั้งแต่เริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้าฯ โดยเน้นการลงพื้นที่ต่อเนื่อง เพื่อเข้าไปรับฟังปัญหา ข้อกังวลใจ และความต้องการของชุมชนเป็นหลัก เช่น โครงการเกษตรอินทรีย์ วิถีพอเพียง โครงการเลี้ยงหอยแมลงภู่แบบแขวน โครงการผักปลอดสารพิษเพื่อเศรษฐกิจพอเพียง โครงการฟาร์มเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ โครงการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ โครงการสร้างศูนย์การเรียนรู้ป่าชายเลนพระเจดีย์กลางน้ำ โครงการป่าชุมชน และโครงการรักษ์ป่าชายเลนกับบีแอลซีพี เป็นต้น ซึ่งบริษัทฯ เน้นในเรื่องการสร้างงาน สร้างอาชีพ และรายได้ที่ยั่งยืนให้กับชุมชนและกลุ่มประมงเรือเล็ก พร้อมทั้งตระหนักในการสร้างสมดุลสิ่งแวดล้อม ใส่ใจในความปลอดภัย ส่งเสริมให้คนในชุมชนมีสุขภาพที่ดีและคุณภาพชีวิตที่ดีควบคู่กันไป”

โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี มีความมุ่งมั่นในการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการพัฒนาศักยภาพในพื้นที่ที่เราประกอบกิจการ ถือเป็นพันธกิจหลัก และโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีจะเดินหน้าจัดทำโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน

BLCP ร่วมสร้างสังคมน่าอยู่ เคียงคู่ชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

……………………………………….