กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตรียมจัดงานรณรงค์วันส้วมโลกประจำปี 2563 ภายใต้หัวข้อ “ส้วมสาธารณะ วิถีใหม่เพื่อทุกคน” หวังกระตุ้นคนไทยให้ความสำคัญต่อการใช้ส้วมและทำความสะอาดส้วม ในช่วงสถานการณ์โรคโควิด 19 พร้อมเน้นย้ำความสะอาด 7 จุดเสี่ยงปนเปื้อนเชื้อโรค
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตรียมจัดงานรณรงค์วันส้วมโลกประจำปี 2563 ภายใต้หัวข้อ “ส้วมสาธารณะ วิถีใหม่เพื่อ ทุกคน” ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 ณ ศูนย์การค้าไอคอนสยาม กรุงเทพมหานคร หวังกระตุ้นให้คนไทยปรับปรุงส้วมที่ใช้ในบ้านและในสถานประกอบการสาธารณะให้สะอาด ปลอดภัย พร้อมทั้งส่งเสริมพฤติกรรมการใช้ส้วมที่ถูกต้อง ซึ่งจากนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) ในการพัฒนาส้วมสาธารณะไทย นับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา กระทรวงสาธารณสุขได้ริเริ่มนโยบายพัฒนาส้วมสาธารณะ โดยร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายจัดทำแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทยและส่งเสริมให้มีการพัฒนาส้วมสาธารณะให้ได้มาตรฐานความสะอาด (Health) เพียงพอ (Accessibility) และปลอดภัย (Safety) เพื่อให้ประชาชนไทยเข้าถึงส้วมสะอาดในทุกสถานที่ รองรับการเป็นสังคมเมืองและวิถีชีวิตคนไทยที่เปลี่ยนไปใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น อีกทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญ เช่น เทศกาลวันปีใหม่ เทศกาลวันสงกรานต์ ซึ่งมีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการส้วมสาธารณะจำนวนมาก และที่สำคัญคือเพื่อป้องกันไม่ให้ ส้วมสาธารณะเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค ผู้ใช้บริการปลอดภัย และประทับใจทุกครั้งที่ใช้บริการ
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ผลการขับเคลื่อนการพัฒนาส้วมสาธารณะในภาพรวมของประเทศพบว่ามีส้วมสาธารณะที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน HAS เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2562 มีจำนวนส้วมทั่วประเทศ ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน HAS รวมคิดเป็นร้อยละ 72.18 และผลจากการสำรวจอนามัยโพลออนไลน์ปี 2563 พบว่า เหตุผลที่ประชาชนเลือกใช้ส้วมสาธารณะลำดับแรกคือ ความสะอาด ร้อยละ 87.6 รองลงมาคือความปลอดภัย ร้อยละ 7.9 และความสะดวก ร้อยละ 3.5 ดังนั้น ผู้ให้บริการจึงต้องเพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดห้องส้วมและบริเวณผิวสัมผัสร่วม ได้แก่ สายฉีดชำระ ที่กดโถส้วม โถปัสสาวะ ลูกบิดหรือกลอนประตู ที่รองนั่งโถส้วม พื้นห้องส้วม และที่เปิดก๊อก
“สำหรับผู้ใช้บริการ ต้องมีพฤติกรรมอนามัยในการใช้ส้วมอย่างถูกต้อง โดยปิดฝาโถส้วมก่อนกดชักโครก ทุกครั้งเพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของเชื้อโรค เว้นระยะห่างในขณะรอใช้ส้วมสาธารณะ 1-2 เมตร ไม่ขึ้นไปเหยียบ บนโถส้วมแบบนั่งราบเพราะจะทำให้โถหรือขอบโถแตกหรือหัก หรืออาจพลาดตกลงมาจนเกิดการบาดเจ็บได้ นอกจากนี้ก่อนใช้ส้วมทุกครั้งให้เช็ดฆ่าเชื้อก่อนนั่งลงบนโถส้วม ไ ม่ทิ้งวัสดุใด ๆ ลงในโถส้วม และล้างมือด้วยสบู่ และน้ำให้สะอาดอย่างน้อย 20 วินาที ทุกครั้งหลังใช้ส้วม เพื่อสร้างสุขอนามัยดีให้กับตนเอง” รักษาราชการแทน อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
…………………………………
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 12 พฤศจิกายน 2563