ทส. แถลงการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ปลาปอดชนิดใหม่ของโลก“เฟอร์กาโนเซอราโตดัส แอนเคมเป” อายุ 150 ล้านปี

วันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 เวลา 11.00 น. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย กรมทรัพยากรธรณี จัดแถลงข่าวผลการศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์ปลาปอดชนิดใหม่ของโลก “เฟอร์กาโนเซอราโตดัส แอนเคมเป” โดยได้รับเกียรติจาก นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานแถลงข่าว พร้อมด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ณ ห้องประชุม 101 อาคารกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ผลการศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์ปลาปอดชนิดใหม่ของโลก เฟอร์กาโนเซอราโตดัส แอนเคมเป” ถูกค้นพบที่แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย จังหวัดกาฬสินธุ์ จัดเป็นปลาโบราณที่พบมาตั้งแต่ 417 ล้านปี มีคุณสมบัติพิเศษ  คือ สามารถหายใจด้วยปอดร่วมกับการหายใจด้วยเหงือก

ผลการศึกษาวิจัยจากผู้เชี่ยวชาญด้านซากดึกดำบรรพ์ปลา Dr.Lionel Cavin พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติเจนีวา ร่วมกับ ดร.อุทุมพร ดีศรี อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา และศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ ดร.พรเพ็ญ จันทสิทธิ์  นักธรณีวิทยาชำนาญการ พิพิธภัณฑ์สิรินธร กรมทรัพยากรธรณี พบว่า รูปสัณฐานของส่วนกะโหลกและ แผ่นฟันปลาปอดที่พบที่ภูน้อย จัดอยู่ในสกุล เฟอกาโนเซอราโตดัส แต่มีความแตกต่างจากชนิดอื่น จึงได้ตั้งชื่อปลาปอด ซากดึกดำบรรพ์ที่พบในแหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อยนี้ เป็นปลาปอดชนิดใหม่ของโลก นามว่า “เฟอร์กาโนเซอราโตดัส แอนเคมเป (Ferganoceratodus annekempae) ซึ่งชื่อชนิดตั้งเป็นเกียรติแก่ Dr. Anne Kemp (ดร.แอน เคมป์) ผู้เชี่ยวชาญปลาปอดของโลก

กรมทรัพยากรธรณี ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ค้นพบชิ้นส่วนซากดึกดำบรรพ์ปลาปอด ที่ประกอบด้วย ชิ้นส่วนของกะโหลก และแผ่นฟันซึ่งคาดว่าเป็นชิ้นส่วนจากปลาตัวเดียวกัน ณ แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ “ปลาปอดจัดเป็นปลาโบราณ เนื่องจากพบปรากฏมาเมื่อ 417 ล้านปี หรือในยุคดีโวเนียน และยังคงพบในปัจจุบัน ปลาปอดที่พบครั้งนี้ มีอายุประมาณ 150 ล้านปี ลักษณะของปลาปอด คือ สามารถหายใจด้วยปอดร่วมกับการหายใจด้วยเหงือก ครีบอกและครีบท้องมีลักษณะเป็นเนื้อหุ้ม ลำตัวปกคลุมด้วยเกล็ดแบบคอสมอยด์ ฟันมีลักษณะเป็นแผ่นฟัน ซากดึกดำบรรพ์ปลาปอดสกุล เฟอร์กาโนเซอราโตดัส ถือว่าเป็นซากดึกดำบรรพ์ที่หายากโดยเฉพาะส่วนกะโหลก โดยสกุลนี้มีการพบในประเทศจีน ประเทศรัสเซีย และประเทศไทยเท่านั้น ดังนั้นการค้นพบปลาปอด เฟอร์กาโนเซอราโตดัส แอนเคมเป นับว่ามีความสำคัญต่อการศึกษาวิวัฒนาการและถิ่นอาศัยในอดีตของปลาปอดของโลกความสำคัญด้านซากดึกดำบรรพ์

ซากดึกดำบรรพ์ในชั้นหิน เป็นเสมือนสมุด บันทึกที่บ่งบอกถึงเหตุการณ์ที่ เกิดขึ้นบนโลกในอดีตกาลเป็นบันทึกที่มีการเรียงร้อยเรื่องราวที่อุบัติขึ้นตามลำดับเวลาที่ผันผ่าน เป็นบันทึกที่บันทึก เรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละเฉพาะพื้นที่ของโลก ดังนั้นจึงมีความสำคัญอย่าง ยิ่งยวดในการ ศึกษาธรณีวิทยาด้านการลำดับชั้นหิน และธรณีประวัติ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในเหตุการณ์ แต่ละขั้นตอน ที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลาอันเป็นทางนำไปสู่การค้นหาตำแหน่งทรัพยากรธรณีที่สามารถนำมาใช้ ประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ความสำคัญด้านวิชาการ

ผลการวิจัยในครั้งนี้ มีความสำคัญต่อการศึกษาวิวัฒนาการและถิ่นอาศัยในอดีตของปลาปอดของโลก  และเป็นหลักฐานแสดงถึงความหลากหลายชีวภาพของแหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย อยู่ในพื้นที่ ตำบลดินจี่ อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ อยู่ในหมวดหินภูกระดึง กลุ่มหินโคราช ยุคจูแรสซิกตอนปลาย มีอายุ 150 ล้านปี พบ New Species ของสัตว์มีกระดูกสันหลังร่วมสมัย 6 สายพันธุ์ใหม่ของโลก (ฉลามน้ำจืด ปลากระดูกแข็ง ปลาปอด เต่า และจระเข้) ถือว่าเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก และจัดว่าเป็นแหล่งที่มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์สัตว์มีกระดูกสันหลังมากที่สุดในประเทศไทย มากกว่า 5,000 ชิ้น

แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่มีความสำคัญและพบความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตจำนวนมากในระดับเอเชีย พบซากดึกดำบรรพ์มากกว่า 5,000 ชิ้น ส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 80 เป็นซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ และยังพบซากดึกดำบรรพ์ร่วมสมัยอื่น ๆ ได้แก่ ฉลามน้ำจืด ปลากระดูกแข็ง ปลาปอด เต่า จระเข้ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก เทอโรซอร์ จึงถือได้ว่าพื้นที่ที่ทรงคุณค่าทางวิชาการ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีต้นทุนทางธรรมชาติที่สมควรอนุรักษ์ไว้ ที่สำคัญมากของประเทศไทย และปัจจุบันกรมทรัพยากรธรณีได้ประกาศให้พื้นที่ภูน้อยเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ขึ้นทะเบียนของประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2563 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ. 2551

ผลงานการศึกษาวิจัยจากกรมทรัพยากรธรณี ค้นพบซากดึกดำบรรพ์ชนิดและสกุลใหม่ของไทยและของโลก จำนวนทั้งสิ้น 595 ชนิด (สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง 333 ชนิด สัตว์มีกระดูกสันหลัง 110 ชนิด พืช 48 ชนิด และสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กอื่น ๆ 104 ชนิด) ยกตัวอย่างเช่น

  1. ซากดึกดำบรรพ์ “แม่เมาะซิออน โพธิสัตย์ติ” หรือ หมาหมี อายุ 13 ล้านปี พบที่เหมืองถ่านหินแม่เมาะ จังหวัดลำปาง พบในปี พ.ศ. 2549
  2. ซากดึกดำบรรพ์อุรังอุตัง “เอปโคราช” อายุ 9 – 7 ล้านปี พบที่อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา
  3. ซากดึกดำบรรพ์ “ไฮยีนาลายจุด” อายุ 200,000 – 80,000 ปี พบที่ถ้ำเขายายรวก จังหวัดกระบี่