เลขาธิการ คปภ. นำทัพล่องใต้ ส่งท้ายโครงการ Training for the Trainers

Featured Video Play Icon

เลขาธิการ คปภ. นำทัพล่องใต้มืองพัทลุง ส่งท้ายโครงการอบรมความรู้ประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ Training for the Trainers ปี 2563 อย่างยิ่งใหญ่ • เผยยอดชาวนาทำประกันภัยข้าวนาปีในปี 63 นับถึงเดือนตุลาคมสูงถึง 44.36 ล้านไร่ ทุบสถิติทุกปีที่ผ่านมา • เล็งพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยยางพาราต่อยอดประกันภัยพืชผลทางเกษตร พร้อมวางโครงสร้างพื้นฐานประกันภัยพืชผลอย่างยั่งยืน

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563 เห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 และโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2563 โดยมอบหมายให้สำนักงาน คปภ. ปรับปรุงกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี และจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้เป็นไปตามรูปแบบและหลักเกณฑ์ของการรับประกันภัย ตลอดจนส่งเสริมความรู้ด้านประกันภัยแก่เกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ได้มีเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ รวมทั้ง ขับเคลื่อนโครงการ “Training for the Trainers” ประจำปี 2563 เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ด้านการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้แก่เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องที่จะไปเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ต่อให้กับเกษตรกรและผลักดันระบบการประกันภัยเข้าไปเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารความเสี่ยงภัยธรรมชาติให้กับเกษตรกร โดยปีนี้เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จึงได้กำหนดพื้นที่จัดการอบรมฯ ครอบคลุมในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ 5 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี ราชบุรี ตาก กาฬสินธุ์ และพัทลุง ซึ่งเป็นจังหวัดสุดท้ายในการปิดโครงการของปีนี้

ถัดมาในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 เลขาธิการ คปภ. ได้เป็นประธานกล่าวเปิดโครงการอบรมความรู้ประกันภัย Training for the Trainers สำหรับการประกันภัยข้าวนาปี และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประจำปี 2563 ณ ห้อง Siva Grand Ballroom ชั้น 2 โรงแรมศิวา รอยัล อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง โดยมีนายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ให้เกียรติกล่าวต้อนรับ และกล่าวขอบคุณ สำนักงาน คปภ. ที่เลือกจังหวัดพัทลุง เป็น 1 ใน 5 จังหวัด ในการจัดอบรมความรู้ด้านประกันภัยในปีนี้ อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับเกษตรกรในจังหวัดพัทลุง เพื่อนำระบบประกันภัยใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี จากวิถีชีวิตของเกษตรกรในจังหวัดพัทลุงที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาวการณ์ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้พื้นที่เพาะปลูกข้าวเปลี่ยนเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ อาทิ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มังคุด และลองกอง เป็นต้น ซึ่งหากพืชผลทางการเกษตรเหล่านี้ มีผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่สามารถนำมาใช้ในการบริหารความเสี่ยงก็จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างยิ่งต่อไปด้วย