1 ทศวรรษ เชื่อมร้อยชุมชนสุขภาวะ

ทุกวันนี้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการมากขึ้น หลายพื้นที่โดดเด่นเรื่องการส่งเสริมสุขภาวะของเด็ก สตรี คนชราและผู้ด้อยโอกาส รวมไปถึงเป็นต้นแบบชุมชนพึ่งตนเองได้

ในวาระครบรอบ 1 ทศวรรษของการขับเคลื่อนการทำงานร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ภายใต้แผนสุขภาวะชุมชน สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดเวทีสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่น วาระ : ทศวรรษร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ พร้อมถอดบทเรียนความสำเร็จ จากการทำงานตลอดระยะเวลา 10 ปี

สิ่งที่ สสส. ทำนอกจากการช่วยให้ชาวบ้านเกิดการรวมตัวแก้ไขปัญหาแล้ว จุดเด่นอีกประการหนึ่งคือ การพัฒนาเครื่องมือทางวิชาการ เพื่อนำมาวิเคราะห์ปัญหาได้อย่างตรงจุด

นางสาวดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโสกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สสส. กล่าวว่า สสส.สนับสนุนโครงการพัฒนา “ตัวชี้วัดความอยู่ดีมีสุขในระดับ อปท.” ที่มีเป้าหมายที่จะประเมินการบริหารงานของ อปท. เพื่อให้เกิดความอยู่ดีมีสุขในท้องถิ่น 8 ด้าน

โดยพบว่า ดัชนีความอยู่ดีมีสุขที่ได้คะแนนสูงสุดอันดับ 1 คือ ด้านความปลอดภัยและป้องกันภัยพิบัติ รองลงมาเป็นการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การจัดการสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพ ด้านเศรษฐกิจชุมชน ด้านสวัสดิการชุมชน ด้านการศึกษาและเรียนรู้ ด้านเกษตรยั่งยืนและด้านการมีส่วนร่วม

นางสาวดวงพร บอกว่า สสส.ทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่เป็นสมาชิกเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่กว่า 3,000 อปท. ซึ่งถือเป็น 1 ใน 3 ของ อปท.ทั่วประเทศ ได้พิสูจน์ผลการทำงานตลอด 10 ปีแล้วว่า เป็นต้นแบบตำบลสุขภาวะ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น “ตำบลพันธุ์ใหม่” ที่มีลักษณะเด่น 3 ประการ คือ

  1. สามารถทำงานโดยอาศัยความร่วมมือของ 4 องค์กรหลักในพื้นที่ ได้แก่ ท้องถิ่น ท้องที่ หน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาสังคม เพราะหากทั้ง 4 ส่วนไม่ร่วมกันทำงาน งานก็ไม่ประสบความสำเร็จ
  2. การทำงานโดยอาศัยฐานข้อมูลชุมชน ที่เป็นของชุมชน และสอดคล้องกับความจริง
  3. การตั้งเป้าหมายร่วมกันในพื้นที่ ชุมชนต้องมีเป้าหมายเดียวกัน คือ พัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน ทำให้ทุกข์น้อยสุขมาก ซึ่งทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถจัดการตนเองได้

ด้าน รศ.ดร.พงษ์เทพ สันติกุล คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเสริมว่า นอกจาก สสส. จะมี “ตัวชี้วัดความอยู่ดีมีสุขในระดับ อปท.” แล้ว ยังได้พัฒนาเครื่องมือ ตัวชี้วัดความเข้มแข็งชุมชนท้องถิ่น” เพื่อนำไปกำหนดนโยบายที่เหมาะสม หรือค้นหาจุดอ่อนที่ยังต้องพัฒนา โดยเป็นเครื่องมือที่ใช้งานง่าย นักพัฒนาชุมชนของ อปท. เมื่อเรียนรู้แล้วสามารถทำได้เองเมื่อใดก็ได้ สามารถอ่านผลได้เอง

โดย สสส. ได้จัดอบรมวิธีการใช้เครื่องมือแก่ อปท. ทั่วประเทศแล้ว 600 อปท. และคาดว่าจะอบรมครบ 900 อปท. ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ต้นปี 2564

รศ.ดร.พงษ์เทพ กล่าวด้วยว่า ตัวชี้วัดความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น ประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ด้าน ได้แก่

  1. มีองค์ประกอบพื้นฐานที่เข้มแข็ง ประกอบด้วย คน, วิธีการและกระบวนการ, ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม, ทุน และเครือข่าย
  2. มีกระบวนการหรือวิธีการพัฒนาที่ยึด “ศาสตร์พระราชา เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ระเบิดจากข้างใน และปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นแนวทางหลักในการพัฒนา อาทิ การสร้างวิสัยทัศน์และคุณค่าร่วม, การพัฒนาแบบมีส่วนร่วม, สร้างผู้นำและพัฒนาคน, มีแผนและนโยบายการพัฒนา, ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ, ส่งเสริมการพึ่งพาตนเอง เป็นต้น
  3. มีผลลัพธ์การพัฒนาที่เข้มแข็ง 5 ข้อประกอบด้วย 1. ความอยู่ดีมีสุข 2. ความมั่นคงด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม 3. การมีจิตวิญญาณชุมชน 4. ความสามารถปรับตัว 5. ความสามารถพึ่งตนเอง

ขณะที่  นายสุริยา ยีขุน นายกเทศมนตรีตำบลปริก อ.สะเดา จ.สงขลา เล่าว่า ตลอดระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ความเปลี่ยนแปลงนั้นเห็นชัดเจน ในเรื่องการดูแลสุขภาพของตัวประชาชนเอง มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการบริโภค และการใช้ชีวิต มีกลุ่มที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพของตัวเอง บนพื้นฐานการทำงานระหว่างเทศบาลปริก กับ สสส. และชุมชนหลายกลุ่ม เกิดแหล่งเรียนรู้ที่คนปริกสร้างขึ้น

สสส. เข้ามาเติมเต็มกระบวนการทำงาน สร้างชุดวิธีคิดใหม่ที่ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง วันนี้เทศบาลตำบลปริก พัฒนาตัวเองเป็นแม่ข่ายหรือศูนย์จัดการเครือข่ายสุขภาวะชุมชน พร้อมเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับพื้นที่อื่น” นายสุริยา กล่าว

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเวลานี้ชุมชนท้องถิ่น ได้กลายเป็นกลไกขับเคลื่อนหลักไปแล้ว ซึ่งตลอดทศวรรษของการขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ สสส.และภาคีเครือข่าย ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า หัวใจของการพัฒนา ต้องเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง และเชื่อมั่นในศักยภาพของคนในชุมชน

ก้าวต่อไปนับจากนี้ เชื่อว่าภารกิจของ สสส.และภาคีเครือข่าย จะสามารถขยายความร่วมมือในวงกว้างยิ่งขึ้น เป็นกำลังหลักช่วยพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป

………………………………….

 ที่มา www.thaihealth.or.th