วว. ผนึกกำลัง GISTDA /พันธมิตร ร่วมพัฒนางานวิจัยด้านนวัตกรรมพลังงานสะอาด สิ่งแวดล้อม มุ่งส่งเสริมความรู้ พัฒนาทักษะ เสริมสร้างขีดความสามารถการพัฒนากำลังคน ต่อยอดการสร้างอาชีพ

วันที่ 8 พ.ย.2563 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมเป็นเกียรติและสักขีพยาน ในพิธีลงนามความร่วมมือวิชาการด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ระหว่าง ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และนายปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เพื่อส่งเสริม ผลักดัน ให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้านนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม เสริมสร้างความตระหนัก ส่งเสริมความรู้ ต่อยอดการสร้างอาชีพ  เสริมสร้างความเข้มแข็งในงานวิชาการ  มุ่งสู่การเป็นแหล่งอ้างอิงข้อมูลของงานวิชาการทั้งในระดับชาติและนานาชาติ ณ หอประชุมหลวงราช สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช จังหวัดนครราชสีมา

ดร.ชุติมา  เอี่ยมโชติชวลิต  ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า การบูรณาการผสานความร่วมมือทางวิชาการและงานวิจัยในครั้งนี้ ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีและพัฒนาประเทศให้เกิดความยั่งยืน และก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายและแนวความคิดในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) รวมทั้งเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศมาใช้ส่งเสริมและผลักดัน เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในด้านนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม โดยการพัฒนาทักษะและขีดความสามารถของบุคลากร การใช้ทรัพยากรเครื่องมือและโครงสร้างพื้นฐานที่มี เพื่อการบริหารจัดการพื้นที่ทั้งในด้านความหลากหลายทางชีวภาพ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ  การส่งเสริมองค์ความรู้ ผ่านรูปแบบของพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ในพื้นที่ ได้แก่ สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช  และพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช โดยดำเนินการผ่านเครือข่ายพันธมิตร ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคอุดมศึกษา และภาคประชาชน เพื่อเสริมสร้างความตระหนัก ส่งเสริมความรู้ ต่อยอดการสร้างอาชีพ และเสริมสร้างความเข้มแข็งในงานวิชาการ เพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงข้อมูลของงานวิชาการทั้งในระดับชาติและนานาชาติ

นายปกรณ์  อาภาพันธุ์  ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า  องค์ความรู้ของ  GISTDA สามารถสร้างแนวทางการพัฒนางานวิจัยด้านนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช และพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช ในด้านการใช้ฐานข้อมูลเทคโนโลยีด้านภูมิสารสนเทศและอวกาศเพื่อประโยชน์ในงานบริการวิชาการและงานวิจัย การใช้เทคโนโลยีด้านภูมิสารสนเทศและอวกาศในการจัดทำฐานข้อมูลด้านภูมิสารสนเทศ   การจัดทำฐานข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพและการกระจายของสิ่งมีชีวิตที่หายาก ใกล้สูญพันธุ์ หรือพบเฉพาะในพื้นที่        การใช้เทคโนโลยีด้านอวกาศในการติดตามและคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ  การจัดทำแนวเขตการจัดการพื้นที่ รวมทั้งการสร้างแนวทางการเรียนรู้แบบใหม่เพื่อส่งเสริมความรู้ พัฒนาทักษะ เสริมสร้างขีดความสามารถในการพัฒนากำลังคน และต่อยอดการสร้างอาชีพ

สำหรับขอบเขตความร่วมมือ ภายใต้การลงนามทางวิชาการของ วว. และ GISTDA  มีหลายระดับ ดังนี้

  1. ในระดับองค์กร : การใช้ฐานข้อมูลเทคโนโลยีด้านภูมิสารสนเทศและอวกาศเพื่อประโยชน์ในงานบริการวิชาการและงานวิจัย ตามที่ วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม (ศนพ.) ได้ดำเนินการ ได้แก่ การประเมินคุณภาพสิ่งแวดล้อม การจัดทำมาตรฐานการท่องเที่ยว การจัดการด้านทรัพยากรรรมชาติและสิ่งแวดล้อม งานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการจัดการคุณภาพอากาศ
  2. ในระดับชุมชน : การใช้เทคโนโลยีด้านอวกาศในการติดตามและคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การเกิดและการควบคุมไฟป่า การติดตามและป้องกันการลักลอบตัดไม้และการล่าสัตว์ป่า หรือการบุกรุกทำลายป่า
  3. ในระดับจังหวัด : การจัดทำแนวเขตการจัดการพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราชตามแนวทางขององค์การ UNESCO เพื่อการบริหารและการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับแผนการจัดการพื้นที่สงวนชีวมณฑลและเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ
  4. ในระดับประเทศ ประกอบด้วย

                         4.1 การจัดทำฐานข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพและการกระจายของสิ่งมีชีวิตที่หายาก ใกล้สูญพันธุ์ หรือพบเฉพาะในพื้นที่ของสถานีฯ ที่เดียวในโลก เพื่อเป็นข้อมูลในการกำหนดมาตรการในการอนุรักษ์ การคุ้มครอง และการติดตามตรวจสอบ อย่างมีประสิทธิภาพ

                         4.2 การใช้เทคโนโลยีของ GISTDA เพื่อการสร้างแนวทางการเรียนรู้แบบใหม่ เป็นแหล่งพัฒนาทักษะบุคลากร หรือพัฒนาอาชีพ ของนักเรียน นักศึกษา และราษฎรของประเทศ รวมทั้งร่วมพัฒนาและแลกเปลี่ยนบุคลากร องค์ความรู้ และเทคโนโลยีร่วมกับภาคอุดมศึกษา ผ่านหลักสูตร Degree กับ Non-degree เพื่อส่งเสริมความรู้ พัฒนาทักษะ เสริมสร้างขีดความสามารถในการพัฒนากำลังคน และต่อยอดการสร้างอาชีพ

  1. ในระดับสากล : การใช้เทคโนโลยีด้านภูมิสารสนเทศและอวกาศในการจัดทำฐานข้อมูลด้านภูมิสารสนเทศของสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชที่มีความแม่นยำสูง เช่น การใช้ที่ดิน ลักษณะของระบบนิเวศ สภาพภูมิประเทศ สิ่งอำนวยความสะดวกและทรัพยากรต่างๆ เพื่อให้นักวิจัยทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่กำลังทำวิจัยในสถานีฯ กว่าปีละ 20 โครงการ ใช้เป็นข้อมูลประกอบการวิจัยที่สามารถใช้เป็นฐานข้อมูลอ้างอิงในงานวิจัยระดับชาติและนานาชาติ