เตรียมพร้อมจัดกิจกรรมแต้มสีกำแพงริมคลองรางไผ่ คลองต้นแบบในการพัฒนาย่านฝั่งธนบุรี

(6 พ.ย.63) นายศักดิ์ชัย บุญมา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังจากลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองรางไผ่ว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานเขตบางบอน ร่วมกับประชาชนในพื้นที่ ดำเนินการพัฒนาทำความสะอาดคลองรางไผ่ เพื่อเปิดทางน้ำไหล เพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ ทั้งนี้ที่ผ่านมาได้รับแจ้งจากประชาชนในพื้นที่ว่าคลองดังกล่าวมีสภาพตื้นเขิน มีผักตบชวาขึ้นอยู่เต็มคลอง สภาพน้ำในคลองเกิดการเน่าเสีย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จึงได้สั่งการให้สำนักงานเขตบางบอนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองรางไผ่ ซึ่งได้ดำเนินการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยการเก็บกำจัดผักตบชวา การขุดลอกคลองโดยใช้เรือขุดเข้าดำเนินการขุดลอก ความลึกกว่า 1 ม. ซึ่งนอกจากจะช่วยในด้านการระบายน้ำแล้วยังเป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรได้ด้วย เนื่องจากในประชาชนพื้นที่นี้ประกอบอาชีพเกษตรกร ปลูกต้นไม้ ดอกไม้ รวมทั้งยังสามารถเป็นเส้นทางการคมนาคมขนส่งที่สำคัญเนื่องจากบริเวณนี้ไม่มีถนนผ่าน นอกจากการพัฒนาปรับปรุงภูมิทัศน์คลองรางไผ่ ตั้งแต่ถนนบางบอน 4 ถึงถนนบางบอน 5 ระยะทางกว่า 2 กม. ให้มีความสวยงามและเป็นระเบียบเรียบร้อยแล้ว อีกประมาณ 2 สัปดาห์ สำนักงานเขตบางบอน กำหนดจัดกิจกรรมแต่งแต้ม เติมสีสันบริเวณกำแพงริมคลองรางไผ่ โดยประสานกับโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตบางบอน และประชาชนในพื้นที่ ร่วมกันทำกิจกรรมด้วยการจัดประกวดแต่งแต้ม เติมสีสันบริเวณกำแพง เพื่อพัฒนาพื้นที่ให้มีความสวยงาม เพิ่มชีวิตชีวาให้กับคลองรางไผ่ ลดความเสี่ยงในจุดเปลี่ยวหรือจุดอับสายตา พร้อมทั้งวางแนวทางพัฒนาพื้นที่บริเวณเลียบคลองรางไผ่ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ จะเป็นการช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในรูปแบบเส้นทางปั่นจักรยาน สัมผัสบรรยากาศธรรมชาติ เยี่ยมชมวิถีชีวิตผู้คนริมคลอง เป็นคลองต้นแบบในการพัฒนาคลองในพื้นที่ฝั่งธนบุรี

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวอีกว่า แต่เดิมพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะในฝั่งธนบุรี จะเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร มีแม่น้ำ ลำคลอง และลำรางสาธารณะ เชื่อมต่อกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งคลองเหลานี้นอกจากใช้ในการคมนาคมขนส่งแล้ว ส่วนหนึ่งจะใช้เป็นพื้นที่ในการรับน้ำและระบายน้ำ ต่อมาได้มีการพัฒนาพื้นที่การเกษตรเป็นที่อยู่อาศัยจึงมีการถมคลอง ทำให้คลองบางส่วนได้หายไป คลองบางส่วนเกิดการตื้นเขิน  อย่างไรก็ตามคลองบางส่วนเป็นพื้นที่ปิดการพัฒนาจึงทำได้ยากเนื่องจากไม่สามารถนำเครื่องจักรขนาดใหญ่เข้าไปดำเนินการได้  แต่กรุงเทพมหานครจะพยายามเข้าดำเนินงานโดยประสานประชาชนในพื้นที่ข้างเคียง ทั้งนี้เนื่องจากกรุงเทพมหานครให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคลองในพื้นที่เป็นอย่างมาก ภายหลังจากพัฒนาคลองรางไผ่ เขตบางบอนแล้ว ในอนาคตจะพัฒนาคลองในพื้นที่เขตหนองแขม เขตบางขุนเทียนเป็นลำดับต่อไป ถ้าหากสามารถฟื้นฟูคลองที่เคยมีในอดีตให้กับมาให้งานได้ดังเดิม ปัญหาเรื่องน้ำท่วมขังในพื้นที่ฝั่งธนบุรีคงจะหมดไปอย่างน้อย 70-80%  สำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในภาพรวมของกรุงเทพฯ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้สำนักงานเขตดำเนินโครงการ 50 คลอง 50 เขต รวมทั้งมอบหมายให้ 6 กลุ่มเขต ดำเนินโครงการคลองสวยน้ำใส พัฒนาทำความสะอาดคลอง ฟื้นฟูสภาพน้ำให้กลับมาใส เพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำด้วย

“อย่างไรก็ตามประชาชนบางส่วนมีข้อสงสัยว่า เหตุใดกรุงเทพมหานครจึงดำเนินการขุดลอกคลองในช่วงนี้ ทำไมไม่ดำเนินการในช่วงฤดูฝนที่มีปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ ขออธิบายคร่าวๆ ว่า การดำเนินงานในช่วงฤดูฝน เป็นไปด้วยความลำบาก เพราะระดับน้ำขึ้นสูงมาก ทำให้ไม่สามารถรู้ระดับพื้นที่ที่แท้จริงได้ ดังนั้นหลังจากหมดฤดูฝนจึงเป็นช่วงที่เหมาะในการดำเนินการขุดลอกคลอง เพราะระดับน้ำจะลดลง ทำให้สามารถเห็นระดับพื้นที่ที่แท้จริง” รองผู้ว่าฯ ศักดิ์ชัย กล่าวในตอนท้าย
—–