RSV โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ระบาดบ่อยช่วงปลายฝนต้นหนาว อาการคล้ายหวัดแต่ทำอันตรายถึงชีวิตได้

เป็นที่ทราบกันดีว่าในช่วงปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาวเป็นช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง และโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจแพร่ระบาดได้ง่าย 1 ในนั้น คือ โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) ซึ่งโรคดังกล่าวจะมีอาการคล้ายไข้หวัด ทั้งเด็กและผู้ใหญ่สามารถติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้ หากเกิดในผู้ใหญ่หรือเด็กโตที่มีสุขภาพแข็งแรง อาการป่วยจะหายได้เอง แต่ถ้าหากเกิดในเด็กเล็ก ๆ ที่ภูมิคุ้มกันยังต่ำ อาจทำให้มีอาการรุนแรง โดยเฉพาะเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 3 ขวบ ขณะเดียวกันผู้ใหญ่ที่เป็นโรคปอด โรคหัวใจ ก็เป็นกลุ่มเสี่ยงเช่นเดียวกัน

โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) สามารถติดต่อผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งต่าง ๆ เช่น น้ำมูก น้ำลาย ที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม และผ่านการหายใจเอาละอองจากการไอ จาม ของผู้ป่วยเข้าไปในร่างกาย โดยระยะฟักตัวของโรคจะอยู่ที่ประมาณ 5 วัน อาการที่ควรระวัง คือ มีไข้มากกว่า 39 องศาเซลเซียส ไอ อาเจียน หายใจหอบจนชายโครงหรือหน้าอกบุ๋ม กินได้น้อย ซึมลง ปากซีด เพราะมีโอกาสสูงที่จะเสียชีวิตเนื่องจากระบบหายใจล้มเหลว ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคโดยตรง แต่ใช้วิธีการรักษาตามอาการ ได้แก่ ให้ยาลดไข้ ยาแก้ไอละลายเสมหะ ยาขยายหลอดลม แนะนำให้เช็ดตัวเพื่อลดไข้ และดื่มน้ำมาก ๆ หากมีอาการเหนื่อยหอบมาก ควรไปพบแพทย์ทันที

สำหรับการป้องกันโรคสามารถทำได้ ดังนี้ 1. หากเด็กป่วยควรให้เด็กสวมหน้ากากอนามัย ปิดปากปิดจมูกเวลาไอ จาม ล้างมือบ่อย ๆ และหลีกเลี่ยงการพาเด็กไปในสถานที่แออัด เช่น ห้างสรรพสินค้า เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ 2. ควรทำความสะอาดของเล่นเด็กเป็นประจำ และให้เด็กล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ 3. รับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ดื่มน้ำมาก ๆ และพักผ่อนให้เพียงพอ 4. หลีกเลี่ยงการจูบและหอมเด็ก เพราะอาจเป็นการแพร่เชื้อโดยไม่รู้ตัว 5. หากเด็กมีอาการป่วยให้หยุดเรียน หยุดไปสถานรับเลี้ยงเด็กจนกว่าอาการจะหายดีเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังได้ดำเนินมาตรการป้องกันโรคดังกล่าวในสถานศึกษาในสังกัด เนื่องจากสถานศึกษาถือเป็นแหล่งที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV ได้แก่ 1. จัดให้มีระบบการคัดกรองเด็กป่วยก่อนเข้าสถานศึกษา หากพบเด็กมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ให้ทำการคัดแยกเด็ก ให้เด็กใส่หน้ากากอนามัย และแจ้งผู้ปกครองรับกลับบ้าน 2. หากพบว่ามีนักเรียนป่วย อาจพิจารณาปิด/เปิดสถานศึกษาเพื่อการชะลอการระบาดของโรคและการแพร่กระจายเชื้อ 3. ให้โรงเรียนทำความเข้าใจกับผู้ปกครองและนักเรียนถึงความจำเป็นที่จะต้องให้นักเรียนที่ป่วยหยุดเรียน และ 4. วิธีการจัดการภายในสถานศึกษา อาทิ จัดเตรียมจุดล้างมือให้พร้อม (น้ำพร้อมสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์) โดยเฉพาะในห้องน้ำและโรงอาหาร ทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ต้องสัมผัสร่วม เช่น ราวบันได เครื่องเล่นคอมพิวเตอร์ จุดตู้น้ำดื่มเป็นประจำ จัดเตรียมหน้ากากอนามัยไว้ ณ ห้องพยาบาล เพื่อให้สามารถหยิบใส่ให้กับนักเรียนที่มีอาการไข้ ไอ จาม ได้สะดวก และประชาสัมพันธ์ให้นักเรียนที่มีอาการไอ จาม มีน้ำมูก ใส่หน้ากากอนามัย และแจ้งกับครูเพื่อให้ครูติดต่อให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน รวมถึงส่งเสริมการออกกำลังกายอย่างจริงจังและสม่ำเสมอเพื่อสร้างภูมิต้านทานโรคให้กับนักเรียนและบุคลากรในโรงเรียน ให้นักเรียนจัดเตรียมแก้วน้ำและช้อนรับประทานอาหารเป็นของตนเอง หากต้องรับประทานอาหารร่วมกันให้ใช้ช้อนกลาง และหากสถานศึกษามีรถรับส่ง ควรจัดเตรียมหน้ากากอนามัยไว้ในรถ เพื่อให้นักเรียนที่มีอาการไอ จาม หรือเป็นหวัด สวมใส่เวลานั่งในรถ และควรทำความสะอาดภายในรถเป็นประจำ

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร มีสถานบริการทางการแพทย์ทั้งโรงพยาบาล และศูนย์บริการสาธารณสุข กระจายอยู่ทั่วพื้นที่ หากพบบุตรหลานมีอาการต้องสงสัยให้รีบพาไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยโรคและรักษาอาการป่วยได้ที่โรงพยาบาล และศูนย์บริการสาธารณสุข ในสังกัดกรุงเทพมหานครทุกแห่ง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนสำนักอนามัย กทม. โทร. 0 2245 4964 และกองควบคุมโรคติดต่อโทร. 0 2203 2887-9 หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมทาง www.bangkok.go.th/health และ www.bangkok.go.th/bmadcd
———————————