ก.เกษตรฯ เดินหน้าบูรณการภารกิจร่วมกับทุกภาคส่วน หารือแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรสมาชิก กฟก. มุ่งฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพผ่านโครงการต่างๆ สร้างรายได้อย่างยั่งยืน

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจาก ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตร ให้เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ครั้งที่ 1/2563  เพื่อให้เกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ ได้รับความช่วยเหลือตามโครงการหรือนโยบายของภาครัฐในด้านต่างๆ มากยิ่งขึ้น ณ ห้องประชุม 123 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ.2542 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการรวมกลุ่มของเกษตรกรในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการแก้ไขปัญหาของเกษตรกร ส่งเสริมและสนับสนุนการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม พัฒนาความรู้ในด้านเกษตรกรรมหรือกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่องค์กรเกษตรกร ตลอดจนพัฒนาศักยภาพในการพึ่งพาตนเองและเกื้อกูลซึ่งกันและกันระหว่างเกษตรกร ต่อมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ฉบับที่ 2 พ.ศ.2544 เพื่อให้สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรได้ โดยกำหนดให้เกษตรกรที่ได้รับการจัดการหนี้ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู และแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 3 เพื่อให้สามารถจัดการหนี้สินเกษตรกรที่ใช้บุคคลค้ำประกันได้

นอกจากนี้ กลไกที่สำคัญของกองทุนฟื้นฟูฯ คือมีผู้แทนเกษตรกรร่วมเป็นคณะกรรมการทั้งสิ้น 3 ชุด ประกอบด้วย 1. คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร 2. คณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และ 3. คณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกร ปัจจุบัน มีองค์กรที่ขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ จำนวนทั้งสิ้น 55,588 องค์กร เกษตรกรสมาชิก จำนวน 5,646,695 คน

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า การประชุมในวันนี้เป็นการประชุมร่วมกันกับส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการภารกิจร่วมกันในการหาแนวทางการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร อาทิ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานเศรษฐกิจและการเกษตร สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สำนักบริหารกองทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและรับเรื่องร้องเรียน และกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร เป็นต้น โดยที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันในการนำนโยบาย “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ของประธาน และรองประธาน กองทุนฟื้นฟูฯ มาดำเนินการให้เกิดเป็นรูปธรรม และยินดีสนับสนุนเกษตรกรสมาชิกโดยเน้นการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพให้กับเกษตรกรรายย่อย ร่วมกันจัดทำแผนการดำเนินงานในพื้นที่ให้สมบูรณ์ เชื่อมโยงข้อมูลเพื่อการบริหารงาน ส่งเสริมอาชีพให้กับสมาชิกกองทุนฯ ผลิตสินค้าเกษตรที่ตรงความต้องการของตลาด เพื่อแก้ปัญหาความยากจน ให้เกษตรกรสมาชิกมีรายได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนส่งเสริมผ่านโครงการต่างๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งนี้ จะมีการติดตามการดำเนินงานขับเคลื่อนอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง

……………………………….