รมว.อว. เรียกประชุมประธานนิสิตนักศึกษาทุกมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ “ย้ำ” ขอให้มองโลกในทางบวก ซึ่งจะทำให้เรามองเห็นโอกาสไม่ใช่เห็นแต่ปัญหา

เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการ รมว.อว. พร้อมด้วย รศ.ดร.จักษ์  พันธ์ชูเพชร ที่ปรึกษา รมว.อว. และนายสำราญ รอดเพชร ผู้ช่วย รมว.อว. เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง นวัตกรรมเพื่อสังคมไทย บทบาทผู้นำเยาวชนยุคใหม่…สู่…คนไทยมีดี ณ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ(อพวช.) โดยมีผู้นำนักศึกษาและผู้นำเยาวชน 168 คนจาก 89 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศเข้าร่วมโดย ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก ได้ทักทายผู้นำนักศึกษาอย่างเป็นกันเองพร้อมกล่าวว่า ตนยินดีที่ได้มาพบปะผู้นำนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ การมารวมตัวกันของนักศึกษาในวันนี้ ถือเป็นโอกาสทองของชีวิตนักศึกษาที่ได้มีโอกาสพบปะกับเพื่อนๆ จากมหาวิทยาลัยอื่นๆ เนื่องจากชีวิตนักศึกษาทั่วๆไปจะรู้จักเฉพาะเพื่อนในสาขาวิชาของตนเอง หรือในคณะของตนเอง หรือในมหาวิทยาลัยของตนเองเท่านั้น ดังนั้น ขอให้นักศึกษาที่ร่วมงานสร้างเครือข่าย เพราะการจะประสบความสำเร็จในชีวิต นอกจากมีความรู้ มีอุปนิสัยดีแล้ว ยังต้องมีเครือข่ายของคนที่เคยรู้จักหรือคุ้นเคย เช่น การรู้จักกันในกิจกรรมนี้ก็เป็นการสร้างเครือข่ายหนึ่งที่จะมีประโยชน์กับชีวิตนักศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เป็นการสร้างทุนทางสังคม เสริมจากทุนชีวิตที่แต่ละคนมี ที่สำคัญขอให้มีทัศนคติที่ถูกต้อง มองโลกในทางบวก ไม่ใช่เห็นแต่แง่ลบ ซึ่งข้อดีของการมองโลกในทางบวกจะทำให้เรามองเห็นโอกาสไม่ใช่เห็นแต่ปัญหา

รมว.อว. กล่าวต่อว่า บทบาทของพวกเราในฐานะผู้นำนักศึกษาที่มาจากแต่ละมหาวิทยาลัยย่อมมีความแตกต่าง มีความหลากหลายในการศึกษา วิทยาการ ความถนัด ย่อมมีแตกต่างกันออกไป แต่ทุกความแตกต่างหากตั้งอยู่บนพื้นฐานความดีงาม ความตั้งใจที่จะสร้างสรรค์พัฒนาสังคม ย่อมเกิดเป็นพลังการพัฒนาที่ชาติต้องการ อว.จึงมุ่งเน้นที่จะสร้าง นิสิต นักศึกษา สร้างบัณฑิตที่มีความรู้ ความสามารถ เป็นที่ต้องการของภาคเอกชน และภาคสังคมมากขึ้น ทั้งในแง่ของการเรียนการสอน การวิจัย และการสร้างนวัตกรรม ที่สำคัญคือต้องเป็นมันสมองของประเทศชาติและสังคม ตนมั่นใจว่าการทำกิจกรรมจะสร้างประสบการณ์ สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้นำนักศึกษาทุกคนในการที่จะนำไปปรับใช้ ให้เข้ากับบริบทของแต่ละพื้นที่ แต่ละวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศต่อไป

……………………………………..