สรุปสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือนตุลาคม 2563

ภาพรวม

ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนตุลาคม 2563 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.50 (YoY) ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ลดลงร้อยละ 0.70 ตามราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดที่ปรับสูงขึ้นเนื่องจากความต้องการของตลาด ทั้งภายในและต่างประเทศที่มีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ประกอบกับผลผลิตพืชผักได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในหลายพื้นที่ อีกทั้งราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานแม้ยังหดตัวแต่ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อน อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าในหมวดข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ไข่และผลิตภัณฑ์นม หมวดเคหสถาน หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ปรับตัวลดลง ขณะที่สินค้าในหมวดอื่น ๆ ยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางที่ปกติ สอดคล้องกับความต้องการ การส่งเสริมการขาย และปริมาณผลผลิตเป็นสำคัญ ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน (เงินเฟ้อทั่วไป ที่หักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว) สูงขึ้นร้อยละ  0.19 (YoY)

เงินเฟ้อในเดือนนี้ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดด้านอุปสงค์และอุปทานในประเทศ  โดยด้านอุปสงค์สะท้อนจากรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ตามราคาสินค้าเกษตรสำคัญ โดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน ผักสด สุกร และยางพารา ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในประเทศยังขยายตัวอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง ส่งผลให้ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มโดยรวมกลับมาเป็นบวกอีกครั้งในรอบ 3 เดือน ขณะที่ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ยังคงขยายตัวได้ดี นอกจากนั้นปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ และดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง กลับมาเป็นบวกอีกในรอบ 16 เดือน และ 17 เดือน ตามลำดับ สำหรับด้านอุปทานสะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม และอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง

สถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือนตุลาคม 2563

ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนตุลาคม 2563 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.50 (YoY) ตามการลดลงของสินค้าอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 1.70 ได้แก่ หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร ร้อยละ 4.32 ตามการลดลงของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภท หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาฯ ลดลงร้อยละ 0.24 จากการลดลงของค่าทัศนาจรและค่าห้องพักโรงแรม หมวดเคหสถาน ลดลงร้อยละ 0.21 โดยสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง อาทิ ก๊าซหุงต้ม ค่ากระแสไฟฟ้า และสิ่งที่เกี่ยวกับการทำความสะอาด (ผงซักฟอก ผลิตภัณฑ์ซักผ้า น้ำยาล้างจาน) และหมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.08 ขณะที่หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า สูงขึ้นร้อยละ 0.21 และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.07 สำหรับหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 1.57 จากการสูงขึ้นของสินค้าในกลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ ร้อยละ 3.53 (เนื้อสุกร กระดูกซี่โครงหมู ปลาหมึกกล้วย) นอกจากนี้ กลุ่มผักสด สูงขึ้นร้อยละ 13.54  โดยผักสดราคาสูงขึ้นเกือบทุกชนิด (ผักชี มะเขือ มะเขือเทศ) กลุ่มผลไม้สด สูงขึ้นร้อยละ 0.33 (กล้วยน้ำว้า ฝรั่ง ทุเรียน) กลุ่มเครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้นร้อยละ 2.54 (น้ำมันพืช ซอสหอยนางรม) กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.94 (น้ำอัดลม น้ำดื่ม กาแฟผงสำเร็จรูป) กลุ่มอาหารบริโภค-ในบ้านและอาหารบริโภค-นอกบ้าน สูงขึ้นร้อยละ 0.44 และ 0.68 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม สินค้าในกลุ่มข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ลดลงร้อยละ 1.76 (ข้าวสารเหนียว ข้าวสารเจ้า) และกลุ่มไข่และผลิตภัณฑ์นม ลดลงร้อยละ 1.20 (ไข่ไก่ นมสด)

ดัชนีราคาผู้บริโภค เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2563 สูงขึ้นร้อยละ 0.05 (MoM) และเฉลี่ย 10 เดือน        (ม.ค.- ต.ค.) ปี 2563 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.94 (AoA)

ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนตุลาคม 2563 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.9 (YoY) ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ลดลงร้อยละ 1.3 ตามราคาสินค้าในหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและผลิตภัณฑ์จากเหมือง ขณะที่หมวดผลผลิตเกษตรกรรมยังคงขยายตัวได้ดี สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดด้านอุปทาน สะท้อนได้จากดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้น โดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 1.2 ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91,95 น้ำมันเครื่องบิน) กลุ่มเคมีภัณฑ์ (โซดาไฟ เม็ดพลาสติก) ความต้องการใช้ลดลงตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว กลุ่มเยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษ (กระดาษพิมพ์เขียน เยื่อกระดาษ) จากคำสั่งซื้อลดลง กลุ่มโลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์ (เหล็กแผ่น ลวดเหล็ก บรรจุภัณฑ์โลหะ) กลุ่มสิ่งทอ (สิ่งทอจากใยสังเคราะห์) กลุ่มเครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และอิเล็กทรอนิกส์ ราคาวัตถุดิบปรับลดลง หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 20.2 (น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ) ขณะที่หมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 6.0 ได้แก่ กลุ่มผลผลิตการเกษตร (หัวมันสำปะหลังสด มะพร้าวผล) พืชผัก (มะนาว มะเขือ พริกสด) และผลไม้ (องุ่น สับปะรดโรงงาน ฝรั่ง) ปริมาณผลผลิตลดลง ขณะที่ความต้องการมีอย่างต่อเนื่อง ผลปาล์มสด ยางพารา ราคาปรับสูงขึ้นจากมาตรการแก้ไขปัญหาราคาของภาครัฐ ประกอบกับสต๊อกยางพาราลดลง กลุ่มสัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ (สุกร/ไก่มีชีวิต และไข่ไก่) กลุ่มปลาและสัตว์น้ำ (ปลาช่อน ปลาตะเพียน ปลาทูสด) ความต้องการของตลาดเพิ่มสูงขึ้น

ดัชนีราคาผู้ผลิต เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2563 ดัชนีราคาโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง และเฉลี่ย 10 เดือน      (ม.ค.- ต.ค.) ปี 2563 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 1.9 (AoA)

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เดือนตุลาคม 2563 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 0.2 (YoY) กลับมาเป็นบวกอีกครั้งในรอบ 17 เดือน เป็นการสูงขึ้นเกือบทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ซึ่งสูงขึ้นร้อยละ 1.4 (สูงขึ้นครั้งแรกในรอบ 23 เดือน) ตามต้นทุนและความต้องการที่ค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น (เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กตัวซี เหล็กตัว H) หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 2.0 (กระเบื้องแกรนิต กระเบื้องยาง PVC ปูพื้น) หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 0.8 (ยางมะตอย) มีการลดกำลังการผลิตตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 0.5 (สีเคลือบน้ำมัน สีรองพื้นโลหะ ซิลิโคน) หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 0.4 (ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์พีวีซี ท่อพีวีซี) และหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ สูงขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.1 ขณะที่หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลงร้อยละ 2.5 (ชีทไพล์คอนกรีต ถังซีเมนต์สำเร็จรูป) และหมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 0.3 (ปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์) เนื่องจากสินค้าล้นตลาด ส่งผลให้มีการแข่งขันสูง สำหรับหมวดสุขภัณฑ์ ดัชนีโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2563 สูงขึ้นร้อยละ 0.3 (MoM) และเฉลี่ย 10 เดือน (ม.ค.- ต.ค.) ปี 2563 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 2.2 (AoA)

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนตุลาคม 2563 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 44.6 จากระดับ 45.1 ในเดือนก่อนหน้า เป็นการปรับตัวลดลงทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและในอนาคต โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับตัวลดลงจากระดับ 37.2 มาอยู่ที่ระดับ 36.4 คาดว่ามาจากปัจจัยหลายด้าน ทั้งจากความกังวลต่อการระบาดของโควิด -19 รอบ 2 การเกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ การสิ้นสุดของมาตรการพักชำระหนี้ และสถานการณ์ทางการเมือง อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตยังอยู่ในช่วงเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง (สูงกว่าระดับ 50) ซึ่งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทั้งโดยรวม ปัจจุบันและอนาคตในเดือนนี้ สอดคล้องและมีทิศทางเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย

แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนพฤศจิกายน 2563

อัตราเงินเฟ้อเดือนพฤศจิกายน 2563 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยคาดว่าจะหดตัวในอัตราที่น้อยลง ตามความต้องการอุปโภคบริโภคภายในประเทศที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในรูปแบบต่างๆ ทั้งการเพิ่มวันหยุดยาว โครงการเที่ยวด้วยกัน โครงการช้อปดีมีคืน และโครงการคนละครึ่ง ซึ่งน่าจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อและกระตุ้นการใช้จ่ายในระบบในช่วงที่เหลือของปี นอกจากนี้ ราคาอาหารสดบางชนิด อาทิ เนื้อสัตว์ ผัก และผลไม้สด ยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ตามปริมาณผลผลิตและความต้องการของตลาด ประกอบกับฐานราคาในปีก่อนอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ราคาพลังงาน ซึ่งยังอยู่ในระดับต่ำ อาจจะเป็นแรงกดดันที่สำคัญต่อเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิดต่อไป ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั้งปี 2563 ที่ร้อยละ -1.5 ถึง -0.7 (ค่ากลางอยู่ที่ –1.1)

……………………………..