โคแฟค (Cofact) เดินหน้าขยายชุมชนผู้ร่วมตรวจสอบความจริง จัดสัญจร 5 ภูมิภาค ตั้งเป้าใช้พื้นที่แพลตฟอร์มออนไลน์เป็นกลไกพัฒนาเยาวชนสู่การเป็นผู้ร่วมตรวจสอบความจริง (Fact Checker)

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จับมือภาคีเครือข่ายผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค (Cofact) แพลตฟอร์มออนไลน์ตรวจสอบข่าวลวง (Fake News) จัดโครงการโคแฟคสัญจร 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ เดินหน้าขยายชุมชนผู้ร่วมตรวจสอบความจริง (Fact Checker Communities) มุ่งเป้าใช้โคแฟคเป็นกลไกพัฒนาทักษะเยาวชนให้เป็นนักสื่อสารสุขภาวะที่รู้เท่าทัน

นางญาณี รัชต์บริรักษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า “สสส. มีพันธกิจในการหนุนเสริมสร้างพื้นที่ให้คนในสังคมได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบความจริงร่วมกัน บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า ทุกคนในสังคมมีศักยภาพในการเป็นผู้ตรวจสอบความจริงได้ (Everyone as a Fact Checker) การจัดโคแฟคสัญจรครั้งนี้ คือความร่วมมือในการพัฒนาและขยายชุมชนผู้ตรวจสอบความจริงนี้ให้เกิดขึ้นทั่วทุกภูมิภาค โดยมีโคแฟคเป็นพื้นที่กลางในการตรวจสอบร่วมกัน หัวใจของการทำงานครั้งนี้เป็นการพัฒนากลไกเพื่อเป้าหมายคือการพัฒนาคน สร้างพลเมืองดิจิทัลหรือนักสื่อสารสุขภาวะให้เกิดขึ้นในสังคม เพราะการฝึกฝนเพื่อการเป็น Fact Checker คือการพัฒนาทักษะและบ่มเพาะผู้ใช้ให้เกิดการรู้เท่าทันสื่อไปด้วยพร้อมกัน”

โคแฟคสัญจรจะทยอยจัดขึ้นใน 5 ภูมิภาค ตั้งเป้าหมายในการเกิดอาสาสมัครและชุมชนโคแฟคมากกว่า 500 คนในการมาร่วมกันช่วยตรวจสอบข่าวลวงทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น โดยที่ผ่านมาได้จัดโครงการสัญจรในภาคตะวันออก ณ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มีเยาวชนนิสิตนักศึกษาจาก 3 สถานศึกษา 4 สาขาวิชาเข้าร่วมโครงการพัฒนาศักยภาพสู่การเป็นผู้ตรวจสอบความจริง (Fact Checker) ผ่านกิจกรรมต่างๆ ทั้งการเรียนรู้การใช้นวัตกรรมโคแฟค เวทีเสวนาวิชาการ กิจกรรมเกมการ์ดพลังสื่อ และการประชุมเชิงปฏิบัติการแนวทางและการตรวจสอบข่าวจริงข่าวลวงร่วมกัน

รศ.ดร.สุชาดา พงศ์กิตติวิบูลย์ อาจารย์ประจำหลักสูตรนิเทศศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยบูรพา ในฐานะตัวแทนภาคีเครือข่ายนิเทศศาสตร์ภาคตะวันออก กล่าวว่า “ปัญหาข่าวลวงเป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับทุกคน การพัฒนาศักยภาพในการตรวจสอบข่าวจริงได้ด้วยตัวเองเป็นเรื่องสำคัญที่เราควรส่งเสริมให้เกิดขึ้นในพลเมืองทุกคน ไม่จำเป็นจะต้องเป็นคนในแวดวงสื่อมวลชนเท่านั้น สิ่ิงเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน วันนี้การที่ภาควิชาการกับภาคประชาสังคมมาจับมือทำงานร่วมกัน ทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นในโลกจริงๆ ได้ขับเคลื่อนเข้าสู่โลกของวิชาการ นิสิตนักศึกษาที่มาร่วมกิจกรรมในวันนี้จะได้รู้จักการตรวจสอบข่าวลวงที่หลากหลายทั้งรูปแบบ วิธีการ และหลากหลายช่องทางที่เข้าถึงได้ ตรวจสอบได้ ในส่วนของโคแฟค ถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมที่มาช่วยให้ทุกคนในสังคมตรวจสอบข่าวลวงได้ง่ายขึ้น สะดวกมากขึ้น ซึ่งถ้าไม่มีเครื่องมือและกลไกเหล่านี้มาช่วย จะเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะข้อมูลที่เกิดขึ้นทุกวันนี้มีจำนวนมาก เราไม่อาจเอาเวลาไปตรวจสอบทุกอย่างทั้งหมดได้ด้วยตัวเอง”

ด้าน ดร. พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล ผู้จัดการโครงการมูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย ซึ่งได้นำเกมการ์ดพลังสื่อมาร่วมเป็น 1 ในกิจกรรมได้กล่าวว่า “โคแฟคเป็นดิจิทัลแพลตฟอร์ม เป็นแชทบอท เว็บไซต์ที่สนับสนุนให้ทุกคนเข้าไปเป็นผู้ตรวจสอบความจริงร่วมกัน ซึ่งการจะเป็นผู้ที่ตรวจสอบความจริงหรือ Fact Checker ได้นั้น จำเป็นจะต้องมีมิติของการรู้เท่าทันสื่อก่อน นั่นคือเมื่อได้รับข่าวสารหรือข้อมูลมา จะต้องรู้จักสืบค้นถึงที่มา วิเคราะห์เนื้อหาว่าจริงหรือไม่ ซึ่งกิจกรรมเกมการ์ดพลังสื่อที่นำมาให้น้องๆ นิสิตนักศึกษาเรียนรู้ในวันนี้ จะเป็นเหมือนการฝึกเรื่องการรู้เท่าทันสื่อผ่านเกมแบบสนุกๆ ง่ายๆ จุดประเด็นให้เขารู้จักตั้งคำถามและนำสู่การใช้ทักษะนี้ในการตรวจสอบความจริงต่อไป”

ในส่วนของ น.ส.ปาริมา สืบสายดี นิสิตคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา สาขาสื่อสารมวลชนทางกีฬา มหาวิทยาลัยบูรพา หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรม กล่าวว่า “ส่วนตัวมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่แค่หน้าที่ของสื่อมวลชน แต่เป็นหน้าที่ของทุกคน เพราะปัจจุบันทุกคนมีมือถือ ทุกคนเป็นสื่อมวลชนได้ เข้าถึงเนื้อหาข่าวสารต่างๆ ได้ จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่เราต้องรู้เท่าทันข่าวสารที่ได้รับอย่างมากมายบนโลกสังคมออนไลน์ในแต่ละวัน การอบรมวันนี้ทำให้ได้แนวคิดดีๆ ส่วนตัวชอบกิจกรรมเกมการ์ดพลังสื่อ เพราะทำให้เราสามารถเข้าใจเรื่องของการรู้เท่าทันสื่อได้อย่างง่ายๆ ไม่น่าเบื่อ หลังจากจบกิจกรรมวันนี้แล้ว คิดว่าน่าจะได้ใช้โคแฟคในการตรวจสอบความจริงอย่างแน่นอน โดยเฉพาะการใช้งานในแอปพลิเคชันไลน์ ที่สามารถส่งข้อความไปตรวจสอบ กับแชทบอท เมื่อได้คำตอบสามารถแชร์ไปให้พ่อแม่ลุงป้าน้าอาที่เขาใช้ไลน์ได้เหมือนกัน คิดว่าแพลตฟอร์มนี้ของโคแฟคสามารถตอบโจทย์ได้ทุกเพศทุกวัย”

สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนผู้ตรวจสอบความจริงร่วมกันกับโคแฟค (Cofact) สามารถเข้าร่วมใช้งานตรวจสอบข่าวลวง เช็คข้อมูลที่สงสัย และแชร์ความจริงร่วมกันได้ง่ายๆ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ 2 ช่องทาง ได้แก่ เว็บไซต์โคแฟค cofact.org และแอปพลิเคชันไลน์ Line@cofact

……………………………….