กรมควบคุมโรค “พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์” ประจำสัปดาห์ที่ 44 (วันที่ 1 – 7 พ.ย. 63)

“จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์บาดเจ็บจากการอาบน้ำด้วยเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊สในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2560-2562) มีรายงานทั้งสิ้น 11 เหตุการณ์ พบผู้ป่วยรวม 20 ราย ส่วนใหญ่เกิดในจังหวัดภาคเหนือและพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็นในช่วงฤดูหนาวของทุกปี ส่วนในปี 2563 นี้ (ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.–29 ต.ค. 2563) พบว่ามีรายงาน 3 เหตุการณ์ จำนวนผู้ป่วยรวม 4 ราย โดยทั้งหมดเกิดในเดือนตุลาคม ในบริเวณภูทับเบิก อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม”

“การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้มีโอกาสจะพบผู้บาดเจ็บจากการอาบน้ำด้วยเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊สได้ เนื่องจากประเทศไทยเข้าสู่ฤดูหนาว ประชาชนมักเดินทางไปท่องเที่ยวตามสถานที่พักในภูเขาหรือยอดดอย และในที่พักอาจมีการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดการบาดเจ็บจากกรณีใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊สได้ ทั้งนี้ เมื่อเปิดใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส จะมีการเผาไหม้เพื่อนำความร้อนไปทำให้น้ำอุ่น แต่การเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ไปแทนที่ออกซิเจนที่อาจมีน้อยอยู่แล้ว ทำให้คนที่อาบน้ำในห้องน้ำสูดดมคาร์บอนมอนอกไซด์เข้าไปในปริมาณมากและเป็นเวลานาน คาร์บอนมอนอกไซด์จะไปเกาะจับเม็ดเลือดแดงแทนออกซิเจน ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน ส่งผลให้หมดสติและอาจเสียชีวิตได้ กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำประชาชนที่เข้าพักในสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งมีการติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊สในห้องน้ำ ให้เปิดพัดลมระบายอากาศและช่องระบายอากาศในห้องน้ำขณะอาบน้ำทุกครั้ง หากไม่มีควรเปิดประตูห้องน้ำไว้ขณะอาบน้ำ ไม่ควรอาบน้ำเป็นเวลานานเกิน 10 นาที ควรเว้นระยะเวลาก่อนคนถัดไปจะอาบน้ำหรือใช้ห้องน้ำอย่างน้อย 15-20 นาที เพื่อให้อากาศได้ระบายออก เมื่อมีอาการวิงเวียน หน้ามืด หายใจลำบาก หรือได้กลิ่นแก๊สขณะอาบน้ำให้รีบปิดเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊สและออกจากห้องน้ำทันที หากพบเห็นคนหมดสติขณะอาบน้ำควรเปิดประตูเพื่อระบายอากาศและรีบนำผู้ป่วยไปยังพื้นที่โล่งพร้อมทั้งรีบโทรแจ้ง 1669 เพื่อนำส่งสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ในกลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคระบบทางเดินหายใจ ควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษขณะใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422”

*******************************************************
ข้อมูลจาก : ทีม SAT / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 31 ตุลาคม 2563