ก.แรงงาน จัดแพ็กเกจโมเดลใหม่ ปั้นกำลังคน EEC

ก.แรงงาน จัดฝึกแพ็กเกจคนละครึ่ง เสริมสกิลสร้างแรงงานฝีมือ ป้อนตลาด EEC สปก. นำค่าใช้จ่ายไปลดภาษี

นายธวัช เบญจาทิกุล  อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้ขับเคลื่อนรูปแบบการฝึกอบรมหลักสูตรระยะสั้น EEC Model short course เป็น 2 รูปแบบ เพื่อใช้ในการพัฒนากำลังแรงงานให้ทันต่อการลงทุนในเขต คือ  EEC Model Type A สถานประกอบกิจการที่เข้าร่วมโครงการจะร่วมกันพิจารณาหลักสูตรสำหรับนักศึกษาระดับปวช. ปวส. หรือป.ตรี โดยสถานประกอบกิจการจะออกค่าใช้จ่าย 100 เปอร์เซ็นต์ รับผู้ผ่านการฝึกอบรมเข้าทำงานไม่น้อยกว่า 1 ปี และโมเดลที่ 2 EEC Model Type B สถานประกอบกิจการกับหน่วยฝึกอบรมร่วมกันจัดทำหลักสูตร ให้สกพอ. พิจารณาอนุมัติหลักสูตรเพื่อนำไปใช้ในการฝึกอบรม สกพอ. สนับสนุนงบบูรณาการเป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม 50 เปอร์เซ็นต์ สถานประกอบกิจการจ่ายอีกเพียง 50 เปอร์เซ็นต์ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ยังนำไปใช้ในการลดหย่อนภาษีได้ ส่วนผู้ผ่านการฝึกอบรมจะได้รับโอกาสเข้าทำงานในสถานประกอบกิจการ 100 เปอร์เซ็นต์ ระยะเวลาการฝึกอบรม 6 ชั่วโมงขึ้นไป และต้องมีผู้เข้ารับการฝึกอบรมไม่น้อยกว่า 10 คนต่อรุ่น เป็นการฝึกอบรมตรงกับความความต้องการของสถานประกอบกิจการ กระทรวงแรงงาน โดยกพร. จึงบูรณาการร่วมกับสถานประกอบกิจการจัดฝึกอบรมพัฒนากำลังแรงงานในเขตพื้นที่ EEC โดยเน้นที่โมเดล EEC Model Type B

นายธวัช  กล่าวต่อไปว่า หน่วยงานกพร. ในเขต EEC ซึ่งประกอบด้วยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 ชลบุรี สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 17 ระยอง สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานฉะเชิงเทรา และสถาบันพัฒนาบุคลกรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (MARA) ได้ร่วมกับสถานประกอบกิจการดำเนินการจัดทำหลักสูตรและผ่านการอนุมัติจากสกพอ. แล้ว 21 หลักสูตร และในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนที่ผ่านมา ได้ดำเนินจัดฝึกอบรมจำนวน 9 หลักสูตร 11 รุ่น ระยะเวลาการฝึกอบรม 30 ชั่วโมง เช่น สาขาการซ่อมบำรุงและแก้ไขปัญหาเครื่องปรับอากาศในอุตสาหกรรมการผลิต สาขาการตรวจสอบงานเชื่อมชิ้นส่วนยานยนต์ สาขาการควบคุมหุ่นยนต์อุตสาหกรรม WELDEX ด้วยโปรแกรม CRP และ LNC สาขาช่างควบคุมเครื่องกลึง CNC ระดับ 1 เป็นต้น มีผู้ผ่านการฝึกอบรมจำนวน 158 คน สำหรับในปี 2564 เป้าหมายดำเนินการฝึกอบรมอีกจำนวน 400 คน

“การดำเนินการในครั้งนี้เป็นการมุ่งเน้น Upskill Reskill และ New skill ให้แก่แรงงานใหม่ แรงงานที่ถูกเลิกจ้าง ผู้ว่างงาน นักศึกษาที่กำลังจะจบการศึกษาระดับปวช. ปวส. ปริญญาตรี ให้เป็นแรงงานคุณภาพ มีทักษะฝีมือเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานเขต EEC ที่ยังต้องการบุคลากรที่มีทักษะจำนวนมากในการรองรับการลงทุนจากภาครัฐและเอกชน” อธิบดี กพร. กล่าว

…………………………….