DITP ข้ามขีดจำกัดยุค New Normal เปิดตัวโมเดล “Mirror-Mirror” การเจรจาการค้าออนไลน์ที่สัมผัสสินค้าได้จริง ครั้งแรกในงาน Fashion World Tokyo Oct 2020

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ปรับกลยุทธ์ขับเคลื่อนการส่งออกอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เปิดตัวโมเดล“Mirror-Mirror” รูปแบบการเจรจาการค้าระบบออนไลน์ที่สัมผัสสินค้าได้จริงเป็นครั้งแรก เริ่มต้นเจาะตลาดเชิงรุกในงาน Fashion World Tokyo Oct 2020 งานแสดงสินค้าแฟชั่นที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ท้าทายการค้ามิติใหม่ พร้อมตอบโจทย์วิถีชีวิตผู้บริโภคในยุค New Normal

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ในสถานการณ์ความผันผวนทางเศรษฐกิจโลก และโดยเฉพาะวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยและทั่วโลกในวงกว้างมากกว่าวิกฤตการณ์ใด ๆ ที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้ธุรกิจหยุดชะงัก รูปแบบการค้าและการใช้ชีวิตของคนที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง เกิดมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ทำให้นักธุรกิจไม่สามารถเดินทางข้ามประเทศได้เหมือนในอดีต กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จึงได้ปรับกลยุทธ์การบุกตลาดผ่านการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าต่างประเทศสู่ออนไลน์ภายใต้ เปิดตัวโมเดลกิจกรรมรูปแบบใหม่ภายใต้ชื่อว่า “Mirror-Mirror” เริ่มที่งานแสดงสินค้า Fashion World Tokyo Oct 2020 เป็นครั้งแรก จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 – 29 ตุลาคม 2563 ณ Tokyo Big Sight กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยได้รับเกียรติจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ กล่าวเปิดตัวโมเดล Mirror-Mirror ผ่านระบบวิดีโอทางไกล”

จุดเด่นของรูปแบบ “Mirror – Mirror” คือ การส่งสินค้าตัวอย่างไปจัดแสดงในงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ โดยที่ผู้ประกอบการไทยไม่ต้องเดินทางไปร่วมงาน อันเป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้ซื้อในต่างประเทศสามารถสัมผัสสินค้าจริง มีทูตพาณิชย์เป็นเซลล์แมนประเทศ และมีล่ามเป็นพนักงานขาย ทำหน้าที่ประสานเชื่อมโยงให้ผู้ซื้อผู้ขายได้พบและเจรจาการค้าผ่านระบบออนไลน์เสมือนอยู่ในที่เดียวกัน ทำให้ระยะทางไม่เป็นอุปสรรคต่อผู้ซื้อผู้ขายและการค้าระหว่างประเทศอีกต่อไป

“การปรับตัวอย่างรวดเร็วเป็นสิ่งสำคัญ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เล็งเห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกัน ตั้งรับ ปรับตัว หาโอกาส เพื่อให้ก้าวข้ามผ่านอุปสรรคและข้อจำกัดทางการค้าที่เกิดขึ้น โดยผมได้ให้ความสำคัญกับนโยบายที่ท่านจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้ให้ไว้ คือการรักษาและขยายตลาดเดิม เพิ่มตลาดใหม่ และฟื้นฟูตลาดเก่า ภายใต้ยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” และได้ปรับกลยุทธ์การจัดกิจกรรมเจรจาการค้าในต่างประเทศสู่ระบบออนไลน์รูปแบบใหม่ Mirror-Mirror เพื่อสร้างโอกาสให้แก่ผู้ส่งออกไทยสามารถเจรจาการค้าแม้ว่าจะไม่สามารถเดินทางไปร่วมงานในต่างประเทศได้” นายสมเด็จกล่าวเสริม

จากการพูดคุยกับผู้เยี่ยมชมงาน ได้ให้ความเห็นต่อการเปิดตัวกิจกรรมรูปแบบใหม่ในครั้งนี้ ว่า “โมเดลใหม่นี้มีความน่าสนใจ สามารถฉีกกรอบความท้าทายใหม่ในยุคปัจจุบันที่ทำให้ไม่ได้รู้สึกถึงข้อจำกัดในด้านระยะที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเมื่อผู้ขายสามารถถ่ายทอดจุดเด่นของแต่ละผลิตภัณฑ์ให้ผู้ซื้อเข้าใจได้ การดำเนินธุรกิจจึงไม่เป็นปัญหา” และอีกหนึ่งความรู้สึกจากผู้ซื้อญี่ปุ่น เห็นว่าถ้าได้เจอกับผู้ประกอบการแบบตัวต่อตัวจะดีที่สุด แต่ในสถานการณ์โควิดแบบนี้ รูปแบบการพูดคุยออนไลน์ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี โดยเมื่อสักครู่ได้คุยกับผู้ขายทางไทยผ่านวิดีโอออนไลน์ ( Zoom) พบว่าได้การอธิบายรายละเอียดพร้อมได้ดูสินค้าตัวอย่างจริงสามารถทำความเข้าใจได้ง่ายและทำให้การเจรจาธุรกิจเป็นไปได้ด้วยดี

ในงานครั้งนี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ นำผู้ประกอบการสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยเข้าร่วมจำนวน 20 บริษัท จัดแสดงสินค้าภายใต้แนวความคิด Functional, Sustainable และ Eco-Friendly สินค้าที่ได้รับความนิยมจากผู้เข้าชมงานได้แก่ ผ้าผืนที่ทำจากของเสียที่ไม่ใช้แล้วในโรงงาน เส้นด้ายรีไซเคิล เครื่องนุ่งห่มที่มีการนำเอาเอกลักษณ์ของชุมชนและวัตถุดิบธรรมชาติมาใช้ ผ้าที่มีนวัตกรรม Anti-Bacteria สะท้อนน้ำ และสำหรับใช้ในทางการแพทย์ เป็นต้น โดยภายในงานสามารถจับคู่การเจรจาทางธุรกิจระหว่างผู้ซื้อและผู้ประกอบการไทยได้กว่า 100 คู่ และคาดว่าจะสร้างมูลค่าการซื้อขายภายใน 1 ปี ได้115 ล้านบาท

สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเป็นอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย เนื่องจากมีผู้ผลิตในอุตสาหกรรมนี้เกือบ 5,000 ราย ยังไม่นับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอีกจำนวนมาก รวมถึงเป็นอุตสาหกรรมที่มีห่วงโซ่เชื่อมโยงหลากหลายตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งไทยส่งออกสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไปยังญี่ปุ่นเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐอเมริกา โดยปี 2562 มีมูลค่าการส่งออกกว่า 25,749 ล้านบาท และในช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) 63 ไทยส่งออกไปญี่ปุ่นมูลค่า 16,435 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12.43 ของการส่งออกสิ่งทอไทยไปทั่วโลก ในขณะที่ญี่ปุ่นนำเข้าจากไทยเป็นอันดับ 8 หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.75 ของมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอรวมของญี่ปุ่น
—————————-
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
29 ตุลาคม 2563