ครม.ไฟเขียว เปิดโควตานำเข้ากากถั่วเหลือง ปี 64 – 66 พร้อมช่วยชาวสวนมะพร้าว กำหนดมาตรการเซฟการ์ด ห้ามนำเข้าเกิน 3.35 แสนตัน

นางอัญชนา ตราโช  รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผย ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ว่า จากที่คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 รับทราบและเห็นชอบตามที่คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืชเสนอ ในเรื่องการเปิดตลาดและบริหารการนำเข้าสินค้ากากถั่วเหลือง รวมทั้งเห็นชอบมาตรการปกป้องพิเศษ (Special Safeguard Measure: SSG) สำหรับสินค้ามะพร้าว ปี 2563 นั้น

การเปิดตลาดและบริหารการนำเข้าสินค้ากากถั่วเหลือง  พิกัดอัตราศุลกากร 2304.00.90 รหัสย่อย 02 เฉพาะที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตเพื่อมนุษย์บริโภค และรหัสย่อย 29 เฉพาะที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ คราวละ 3 ปี (ปี 2564 – 2566)  ในกรอบ WTO ได้แก่ JTEPA , AKFTA และ TCFTA  รวมปริมาณ 230,559 ตัน ได้กำหนดภาษี ในโควตาร้อยละ 10  และนอกโควตาร้อยละ133  ส่วนกรอบการค้าอื่นๆ ตามความตกลง เช่น AFTA ไม่จำกัดปริมาณการนำเข้าภาษี 0%  ส่วน TAFTA และ TNZCEP ภาษี 0% ไม่ต้องขออนุญาตนำเข้าและไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรการบริหารการนำเข้า  ขณะที่หากนำเข้าจากประเทศนอกความตกลงภาษี 6% และค่าธรรมเนียมพิเศษ ตันละ 2,519 บาท ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีวัตถุดิบใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ เพื่อปกป้องเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากจนเกินความต้องการใช้ในประเทศ ครม. จึงเห็นชอบมาตรการปกป้องพิเศษ (Special Safeguard Measure: SSG) ภายใต้ความตกลง WTO และ AFTA สำหรับสินค้ามะพร้าว ปี 2563 เพื่อเป็นมาตรการคู่ขนานตามข้อเรียกร้องเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์   โดยกำหนดกฎระเบียบการนำเข้ามะพร้าวทั้งกะลา มะพร้าวอ่อน และมะพร้าวอื่นๆ (พิกัดอัตราศุลกากร 0801.12.00 0801.19.10 และ  0801.19.90 ตามลำดับ) ให้เป็นแนวทางเดียวกันทั้งกรอบความตกลง WTO และ AFTA

สำหรับการนำเข้ามะพร้าวภายใต้กรอบความตกลง WTO  กำหนดให้นำเข้ามะพร้าวได้ 2 ช่วง รวม 6 เดือน คือ มกราคม – กุมภาพันธ์ และกันยายน – ธันวาคม (จากเดิม มกราคม-พฤษภาคม และ พฤศจิกายน-ธันวาคม) โดยกรอบความตกลง WTO นอกโควตาไม่กำหนดช่วงเวลานำเข้า ส่วนการนำเข้ามะพร้าวผลตามความตกลง AFTA กำหนดช่วงเวลานำเข้า 4 เดือน  คือ กันยายน – ธันวาคม 2563 โดยจัดสรรปริมาณนำเข้าให้แก่ผู้มีสิทธินำเข้าที่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ทั้งนี้ หากมีการนำเข้าเกินกว่าปริมาณ trigger volume ที่กำหนด คือ 335,926 ตัน จะมีการปรับภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 54 เป็น ร้อยละ 72 ตามข้อเสนอของคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช อย่างไรก็ตาม หากพบว่า ปริมาณมะพร้าวในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการและการนำเข้ามะพร้าวไม่กระทบต่อราคาที่เกษตรกรได้รับ อาจพิจารณาไม่บังคับใช้มาตรการ SSG ซึ่งทางกรมศุลกากรจะเป็นผู้รายงานข้อมูลให้แก่ สศก. ต่อไป

จากการคาดการณ์ผลผลิตมะพร้าวที่ออกสู่ตลาด พบว่า ปี 2563 อยู่ที่ประมาณ 0.837 ล้านตัน ขณะที่ความต้องการใช้อยู่ที่ 1.417 ล้านตัน ทำให้ผู้ประกอบการแปรรูปมะพร้าวมีวัตถุดิบไม่เพียงพอในการผลิต  ซึ่งปัจจุบัน มีผู้ประกอบการแปรรูปมะพร้าวที่มีคุณสมบัติและเป็นผู้มีสิทธินำเข้ามะพร้าวผลตามกรอบความตกลงของ AFTA ปี 2563 จำนวน 15 ราย ซึ่งจะสามารถนำเข้ามะพร้าวผลได้หลังจากกรมการค้าต่างประเทศออกประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการขอและการออกหนังสือรับรองแสดงการได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีทั้งหมดหรือบางส่วน สำหรับเมล็ดถั่วเหลือง มะพร้าว เนื้อมะพร้าวแห้ง และน้ำมันมะพร้าวที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรตามความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563  ทั้งนี้ จะมีการเผยแพร่บนเว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ และการอนุญาตให้มีการนำเข้าดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในประเทศ เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าว (กันยายน – ธันวาคม 2563) เป็นช่วงที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ส่งผลให้ราคามะพร้าวผลแห้ง (ใหญ่) ที่เกษตรกรขายได้ในปี 2563 ยังอยู่ในเกณฑ์ดี เคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 11.50 – 16.50 บาท/ผล

 

************************************************

ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์

ข้อมูล : สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร