ชป.ยืนยันระบายน้ำเขื่อนลำตะคอง ไม่กระทบพื้นที่ท้ายเขื่อนและเมืองโคราช

กรมชลประทาน ชี้แจงกรณีการระบายน้ำจากเขื่อนลำตะคอง รองรับปริมาณน้ำจากพายุ “โมลาเบ” ยืนยันไม่กระทบพื้นที่ท้ายเขื่อนและตัวเมืองนครราชสีมา

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาเรื่องพายุ  “โมลาเบ” ในช่วงวันที่ 28-29 ต.ค.นี้  ซึ่งจะส่งผลให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกหนักถึงหนักมาก กรมชลประทาน โดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง จึงได้เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ เนื่องจากเขื่อนลำตะคองมีปริมาณน้ำอยู่เกือบเต็มอ่างฯ แต่ยังสามารถรับน้ำได้อีกประมาณ 27 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ได้มีการระบายน้ำออกจากอ่างฯเลย ดังนั้น เพื่อเป็นการรองรับปริมาณน้ำที่คาดว่าจะไหลลงอ่างฯเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป จึงจำเป็นต้องระบายน้ำจากเขื่อนลำตะคองลงสู่ลำน้ำธรรมชาติ ในอัตราวันละไม่เกิน 1 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณ 10 ลบ.ม./วินาที ตั้งแต่เวลา 12.00 ของวันนี้(26 ต.ค. 63)

สถานการณ์น้ำในพื้นที่เมืองนครราชสีมา ปัจจุบันแนวโน้มปริมาณน้ำท่าในลุ่มน้ำลำตะคองสายหลัก ตั้งแต่อาคารแบ่งน้ำละลมหม้อ ถึง ประตูระบายน้ำ(ปตร.)ข่อยงาม มีแนวโน้มลดลง ทำให้สถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ 6 ชุมชน ของชุมชนมิตรภาพซอย 4 กลับสู่สภาวะปกติแล้ว ส่วนทางด้านปริมาณน้ำที่ผันลงสู่ลำบริบูรณ์ ส่วนหนึ่งได้ผันลงสู่ลำเชียงไกรผ่านบึงพุดซา ส่งผลให้ปริมาณน้ำในลำเชียงไกรเพิ่มขึ้น ปริมาณน้ำบางส่วนได้ไหลบ่าเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำการเกษตร ส่วนที่เหลือได้ผันไปตามลำบริบูรณ์ไปจนถึง ปตร.จอหอ ก่อนที่จะเร่งระบายน้ำผ่าน ปตร.กันผม เร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำมูลตามลำดับ เพื่อลดปริมาณน้ำในลำบริบูรณ์

ทั้งนี้ สำนักงานชลประทานที่ 8 ได้เตรียมพร้อมรับมือในกรณีที่อาจจะได้รับผลกระทบจากพายุ “โมลาเบ” ด้วยการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในลำบริบูรณ์ บริเวณปตร.จอหอ และในลำตะคองที่ปตร.ข่อยงาม และปตร.กันผม จุดละ 3 เครื่อง รวม 9 เครื่อง พร้อมกับดำเนินการขุดลอกลำน้ำ การกำจัดผักตบชวา และเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือไว้ก่อนหน้านี้แล้ว

กรมชลประทาน ขอยืนยันว่าปริมาณน้ำที่ระบายจากเขื่อนลำตะคอง จะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายน้ำ รวมไปถึงบริเวณที่ไหลผ่านตัวเมืองนครราชสีมา เนื่องจากปริมาณน้ำในลำน้ำลำตะคองมีปริมาณต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 50 เซนติเมตร ประกอบกับปริมาณน้ำที่เคยท่วมขังได้ลงไหลสู่แม่น้ำมูลไปแล้ว จึงขอให้ประชาชนด้านท้ายเขื่อนอย่าได้วิตกกังวล และขอให้รับฟ้งข่าวสารจากทางราชการเท่านั้น หรือโทร.สอบถามได้ที่สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา

………………………………………

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

26 ตุลาคม 2563