กรมควบคุมโรค พัฒนาโครงการ “การจัดการสุขภาพแบบองค์รวมโดยการมีส่วนร่วมของสถานประกอบการ” เผยผลการดำเนินงานพบว่าอัตราการประสบอันตรายของแรงงานในสถานประกอบการลดลงอย่างต่อเนื่อง

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาโครงการ “การจัดการสุขภาพแบบองค์รวมโดยการมีส่วนร่วมของสถานประกอบการ” เผยผลการดำเนินงานในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อัตราการประสบอันตรายของแรงงานลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยขับเคลื่อนผ่านกลไกโครงการสถานประกอบการปลอดโรค ปลอดภัย กายใจเป็นสุข มีสถานประกอบการผ่านเกณฑ์ 772 แห่ง จากที่เข้าร่วมฯ 2,719 แห่ง และการประเมินและจัดการความเสี่ยงทางสุขภาพครบวงจร (จัดบริการอาชีวอนามัยครบวงจร) มีสถานประกอบการ ที่จัดบริการอาชีวอนามัยครบวงจรอยู่ในระดับดีมาก 55 แห่ง จากที่เข้าร่วมฯ 273 แห่ง ทำให้โครงการดังกล่าวได้รับรางวัลผลงานคุณภาพ ประจำปี พ.ศ.2561 จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.)

วันที่ 16 ตุลาคม 2561 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในปีนี้กรมควบคุมโรค ได้รับรางวัลผลงานคุณภาพ ประจำปี 2561 จำนวน 9 รางวัล จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) ซึ่งเป็นรางวัลระดับประเทศ และถือเป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่มอบให้ส่วนราชการต่างๆ ที่มีผลการพัฒนาคุณภาพการให้บริการแก่ประชาชน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือผลงาน “การจัดการสุขภาพแบบองค์รวมโดยการมีส่วนร่วมของสถานประกอบการ” ของสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม โดยได้รับรางวัลเลิศรัฐ สาขาบริการภาครัฐแห่งชาติ ระดับดี ประเภทพัฒนาการบริการ วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชากรวัยทำงานมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตดี ลดการเจ็บป่วยจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและการบาดเจ็บ รวมทั้งโรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุขของพื้นที่ และปลอดภัยจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคได้ดำเนินโครงการสถานประกอบการปลอดโรค ปลอดภัย กายใจเป็นสุขอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2555-ปัจจุบัน โดยใช้กลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหาและปรับปรุงการดำเนินงาน  ดังนี้ 1.การสนับสนุนขององค์กร มีการกำหนดนโยบายฯ ผู้รับผิดชอบโครงการ การมีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติงาน การติดตามทบทวนและประเมินผลเพื่อการพัฒนา 2.ปลอดโรค การให้ความรู้และคำปรึกษากับสถานประกอบการเพื่อป้องกันควบคุมโรค 3.ปลอดภัย การทำงานกับ เครื่องจักร/อุปกรณ์/เครื่องใช้ ที่ปลอดภัยและมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เหมาะสม และ 4.กายใจเป็นสุข ส่งเสริมกิจกรรมนันทนาการ กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพจิต และการเห็นคุณค่าของพนักงานและครอบครัว ซึ่งองค์ประกอบที่กล่าวมา           จะเน้นการบูรณาการและสร้างความร่วมมือในการดำเนินงานของหน่วยงานภายในกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานภายนอกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูแลสุขภาพของลูกจ้างในสถานประกอบการที่ครอบคลุมทุกมิติ โดยมีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการ จาก 76 จังหวัดทั่วประเทศ (ไม่รวม กทม.) ตั้งแต่ปี 2556 – 2560 จำนวน 2,719 แห่ง และมีสถานประกอบการที่ดำเนินการผ่านเกณฑ์การประเมินฯ จำนวน 772 แห่ง (คิดเป็นร้อยละ 28.39) จำนวนแรงงานที่ได้รับการดูแลสุขภาพภายใต้การดำเนินงานโครงการฯ จำนวน 464,430 คน

 

ด้านแพทย์หญิงฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กล่าวเสริมว่า ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่าสถานประกอบการมีการประเมินและจัดการความเสี่ยงทางสุขภาพแบบครบวงจรผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนด จำนวน 262 แห่ง แบ่งออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ ระดับเริ่มต้น 145 แห่ง ระดับพื้นฐาน 28 แห่ง ระดับดี 34 แห่ง และระดับดีมาก 55 แห่ง และในปี 2559-2560 พบว่าในภาพรวมสถานประกอบการ มีการประเมินและจัดการความเสี่ยงทางสุขภาพแบบครบวงจร  (ระดับดีมาก) คือ มีดำเนินการได้ครบถ้วนทุกขั้นตอน จำนวน 55 แห่ง ในพื้นที่ 24 จังหวัด

นอกจากนี้ ยังพบว่าอัตราการประสบอันตรายต่อลูกจ้าง 1,000 ราย ตั้งแต่ปี 2555-2559 ลดลงอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จาก 1.กรณีร้ายแรง พบอัตราการประสบอันตรายฯ เท่ากับ 4.52 / 3.95 / 3.43 / 3.19 / 3.04 ตามลำดับ 2.รวมทุกกรณีความรุนแรง พบอัตราการประสบอันตรายฯ เท่ากับ 15.37 / 12.57 / 10.98 / 10.25 / 9.47 และพบว่าการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค และส่งเสริมสุขภาพของผู้ประกอบอาชีพในภาคอุตสาหกรรม ของหน่วยงานสาธารณสุขมีความคล่องตัว สามารถเข้าถึงสถานประกอบการได้ง่ายขึ้น มีการบูรณาการดำเนินงานในรูปแบบสหสาขาวิชาชีพ เช่น งานอาชีวเวชกรรม งานโภชนาการ งานอนามัยสิ่งแวดล้อม และงานโรคไม่ติดต่อ เป็นต้น ทำให้สามารถแนะนำ ค้นหา ประเมิน และจัดการความเสี่ยงทางสุขภาพได้ครอบคลุมทุกมิติมากขึ้น

 

*******************************************************

ข้อมูลจาก: สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค