ชป. เดินหน้าช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง หลายพื้นที่กลับสู่ภาวะปกติแล้ว

 ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักต่อเนื่องในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจำนวน 27 จังหวัด  ปัจจุบัน(22ต.ค.63)มีพื้นที่เข้าสู่ภาวะปกติแล้วจำนวน 12 จังหวัด แต่ยังคงมีพื้นที่ประสบอุทกภัยอยู่อีกจำนวน 15 จังหวัด กรมชลประทาน ได้เร่งให้ความช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง

โดยที่จังหวัดอุบลราชธานี โครงการชลประทานอุบลราชธานี ได้นำกระสอบทราย 500 ใบ วางเป็นแนวกั้นน้ำ รวมทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 4 นิ้ว 1 เครื่อง บริเวณโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช 1 (ชุมชนวังแดง) เร่งระบายน้ำออกจากชุมชน

จังหวัดนครราชสีมา มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบท้ายอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง 2 อำเภอ ได้แก่ อ.ปักธงชัย สถานการณ์น้ำท่วมลดลงอย่างต่อเนื่อง หลายพื้นที่เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว โครงการชลประทานนครราชสีมา ได้ทำการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 31 เครื่อง และสำรองเครื่องสูบน้ำในพื้นที่อีก 12 เครื่อง เร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำมูลอย่างต่อเนื่อง ส่วนที่อ.โชคชัย โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลบน ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ พร้อมเปิดประตูระบายน้ำบ้านไร่ ทั้ง 4 บาน เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่การเกษตร รวมทั้งติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในแม่น้ำมูล คาดว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 2 สัปดาห์  ทางด้านเขื่อนลำตะคอง ยังปิดการระบาย มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำหลากบริเวณ อ.เมืองนครราชสีมา ริมลำน้ำบริบูรณ์  และพื้นที่การเกษตรลุ่มต่ำ ชุมชนบ้านลำเชิงไกร ต.โคกสูง สำนักงานชลประทานที่ 8 นำรถแบคโฮ 5 คัน เข้าขุดลอกคลองสาบใหญ่ฝั่งขวา บริเวณประตูระบายน้ำโพธิ์เตี้ย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ลงสู่ลำบริบูรณ์

จังหวัดสระแก้ว มีพื้นที่น้ำท่วม 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง และอำเภอเขาฉกรรจ์ โครงการชลประทานสระแก้ว ทำการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 4 เครื่อง ช่วยเร่งการระบายที่สะพานบ้านแก่งสีเสียด ต.สระขวัญ อ.เมืองสระแก้ว จังหวัดปราจีนบุรี มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 6 จุด โครงการชลประทานปราจีนบุรี  ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดตั้งศูนย์อำนวยการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย บริเวณที่ว่าการอำเภอ และพื้นที่เทศบาล ตลาดเก่ากบินทร์บุรี เพื่ออำนวยความสะดวกในการปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชน  พร้อมบริหารจัดการน้ำ ด้วยการรับน้ำเข้าทุ่งท่าแห ในอัตราวันละ 2 ล้าน ลบ.ม. ผ่านทางประตูระบายน้ำเพชรเอิม ประตูระบายน้ำตะกรุดอ้อม และประตูระบายน้ำกระพ้อใหญ่  ส่วนโครงการส่งน้ำและบำรุงบางพลวง รับน้ำเข้าทุ่งบางพลวง  ผ่านประตูระบายน้ำหาดยาง ในอัตราวันละ 0.6 ล้าน ลบ.ม. แล้วระบายออกจากทุ่งบางพลวง ผ่านประตูระบายน้ำบางกระเจ็ด และประตูระบายน้ำบางคูมอญ เพื่อเตรียมรองรับน้ำจาก อ.กบินบุรี ด้านจังหวัดชลบุรี โครงการชลประทานชลบุรี ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 2 เครื่อง เร่งระบายน้ำจากลุ่มน้ำคลองหลวง ไปลงคลองส่งน้ำสายใหญ่ท่าลาด ก่อนที่จะระบายลงคลองชลประทานพานทอง และไหลลงแม่น้ำบางปะกงตามลำดับ พร้อมกับติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 12 เครื่อง บริเวณวัดโคกพุทธา และประตูระบายน้ำคลองน้ำเค็ม อ.พนัสนิคม จุดละ 4 เครื่อง และนำรถแบคโฮ1 คัน เข้าไปกำจัดวัชพืชในคลองส่งน้ำสานใหญ่ท่าลาด เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำให้ดีขึ้น

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ยังคงให้ความช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หากประชาชนหรือหน่วยงานใด ต้องการความช่วยเหลือ สามารถร้องขอไปได้ที่โครงการชลประทานในพื้นที่ หรือโทร.1460 สายด่วนกรมชลประทาน ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

………………………………….

ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

22 ตุลาคม 2563