สสส.–กระทรวงอุดมศึกษาฯ-บ.กล่องดินสอ จัดมหกรรมแนะแนวการศึกษาแห่งเดียวในประเทศ “เด็กพิการเรียนไหนดี ‘64”

สสส.–กระทรวงอุดมศึกษาฯ-บ.กล่องดินสอ จัดมหกรรมแนะแนวการศึกษาแห่งเดียวในประเทศ “เด็กพิการเรียนไหนดี ‘64” เพิ่มทางเลือกให้เด็กพิการเข้าถึงการศึกษาเท่าเทียม กระตุ้นทักษะ ค้นหาตัวเอง สร้างแรงบันดาลใจ ส่งเสริมทางที่ใช่สู่อาชีพที่ชอบ สร้างสุขภาวะกาย-ใจ-ปัญญา-สังคม

เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 ที่ทรู ไอคอนสยาม ศูนย์การค้าไอคอนสยาม กทม. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และบริษัท กล่องดินสอ จำกัด จัดงานมหกรรมแนะแนวการศึกษาคนพิการแห่งเดียวในประเทศ “เด็กพิการเรียนไหนดี ‘64” ตอน ปั้นฝันเป็นตัว มุ่งเพิ่มทักษะให้เด็กพิการได้เข้าถึงระบบการศึกษาเท่าเทียมเด็กทุกคน ส่งเสริมขับเคลื่อนสู่นโยบายระดับชาติ

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า ในปี 2563 พบคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการได้รับการศึกษา 1,533,159 คน ในจำนวนนี้ศึกษาระดับชั้นประถมศึกษามากที่สุด 1,249,795 คน รองลงมาได้แก่ระดับชั้นมัธยมศึกษา 169,606 คน ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา 35,085 คน ไม่ระบุการศึกษา 24,402 คน และอุดมศึกษา 21,220 คน จากผลสำรวจของภาครัฐ ชี้ให้เห็นว่า คนพิการได้รับการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยน้อยที่สุด นอกจากนี้ยังพบคนพิการที่ไม่ได้รับการศึกษา 69,371 คน สาเหตุส่วนใหญ่มาจากปัจจัยแวดล้อมในครอบครัว สภาพร่างกายที่อาจจะทำให้ผู้ดูแลมองว่าไม่เอื้อต่อการเรียน รวมถึงสถานะทางการเงินที่มีส่วนทำให้คนกลุ่มนี้ขาดโอกาสเข้าถึงการศึกษา

“ที่ผ่านมา สสส. พยายามส่งเสริม เพิ่มทักษะให้เด็กพิการทุกคนได้รับโอกาสเข้าถึงระบบการศึกษาอย่างเท่าเทียมเหมือนเด็กทุกคน ด้วยการสร้างความรู้ที่ตรงศักยภาพคนพิการ ให้มองเห็นเส้นทางที่ใช่ สู่ อาชีพที่ชอบ เพราะเชื่อว่า สิ่งที่เรียนรู้ไปจะสามารถทำให้คนกลุ่มนี้นำไปพัฒนาต่อยอดสร้างเป็นรายได้มั่นคง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี โดยที่ไม่รู้สึกแตกต่างจากคนอื่น”นางภรณีกล่าว

นางภรณี กล่าวต่อว่า สำหรับงานมหกรรมแนะแนวการศึกษาเพื่อคนพิการ จัดขึ้นครั้งที่ 3 มีวัตถุประสงค์ คือ 1. เพื่อให้นักเรียนพิการได้เรียนรู้ค้นหาตนเอง และวางแผนเลือกเรียนในโรงเรียน สถาบันหรือมหาวิทยาลัยที่สอดคล้องกับความต้องการ 2. เพื่อให้นักเรียนพิการได้เรียนรู้เส้นทางการศึกษาต่อระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา 3. เพื่อให้นักเรียนพิการได้เรียนรู้เทคนิคการเรียนและการสอบในมหาวิทยาลัย วิทยาลัยอาชีวศึกษา รวมถึงเส้นทางการประกอบอาชีพในอนาคตจากรุ่นพี่นักศึกษาพิการ และ 4. เพื่อให้ผู้ปกครองของนักเรียนพิการสามารถเข้าถึงข้อมูลและตัวเลือกทางการศึกษา ต่อเนื่องงานเชิงรุกที่ขับเคลื่อนการจ้างงานเชิงสังคมทำให้คนพิการสามารถเข้าสู่การมีอาชีพมีงานทำได้ จำนวนกว่า 7,000 อัตรา และสร้างโอกาสให้คนพิการได้ทำงานแล้วกว่า 20,000 โอกาสงาน

​“โจทย์ใหญ่ที่ สสส. ตั้งใจทำคือ สร้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้เด็กที่พิการเท่าเทียมในสังคม แม้ร่างกายของเขาจะแตกต่าง แต่ศักยภาพและทักษะของคนกลุ่มนี้ล้ำเลิศไม่แพ้กับเด็กทุกคน โดยสร้างพื้นที่ชุมชนออนไลน์ผ่านเพจ “เด็กพิการเรียนไหนดี” และกลุ่มFacebook “เด็กพิการอยากเรียนมหา’ลัย” โดยมุ่งพัฒนากลไกสนับสนุนการออกแบบ สร้างสภาพแวดล้อมทางกายภาพ ให้รองรับวิถีชีวิตคนพิการ ปีนี้ใช้ชื่อตอน “ปั้นฝันเป็นตัว” มีเป้าหมายให้คนพิการค้นหาตัวเอง เน้นแนะแนวทางการเรียน สอนวิธีสร้างแฟ้มสะสมงานให้น่าสนใจ พร้อมเผยเคล็ดไม่ลัพธ์เทคนิคตอบคำถามสัมภาษณ์ให้เด็กพิการเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น ซึ่งพบว่า ปีที่ผ่านมามีเด็กพิการสนใจศึกษาต่อระดับชั้นปริญญาตรีร้อยละ 76 ที่เหลือสนใจวิชาสายอาชีพ ปวช.-ปวส. มากขึ้น ” นางภรณี กล่าว

​ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า งาน “เด็กพิการเรียนไหนดีปี 64” ที่ สสส. และภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนนับเป็นนวัตกรรมส่งเสริมการศึกษาเพื่อคนพิการที่ทันสมัย โดดเด่น เพราะ เน้นสร้างสังคมแบบ Inclusive มุ่งผลักดันความเท่าเทียมทางการเรียนรู้ เพื่อเป้าหมายที่ยิ่งให้คือ ปั้นความฝันคนพิการให้เป็นความจริง โดยที่ไม่ทำให้ปัจจัยทางร่างกายหรือสติปัญญามาเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้

​“การผลักดันให้คนพิการเข้าถึงระบบการศึกษา กระทรวงอุดมศึกษาฯ ตั้งใจขับเคลื่อนในระดับนโยบายมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การมอบทุนสนับสนุนให้คนพิการได้ศึกษาต่อในระดับชั้นอุดมศึกษามากขึ้นกว่าเดิม รวมไปถึงการช่วยกำกับ ดูแล ขอความร่วมร่วมมือมหาวิทยาลัยของรัฐบาลและเอกชน ทั่วประเทศ มองเห็นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียม มอบโอกาสให้คนพิการได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย รวมไปถึงพิจารณาปรับอัตราเงินอุดหนุนคนพิการ ส่งเสริมคนกลุ่มนี้ได้เรียนต่อในระดับอาชีวศึกษาและมหาวิทยาลัยเหมือนเด็กทุกคน” ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ กล่าว

​นางสาวธนัญชกร สันติพรธดา หรือ “น้องแอล” พิการทางการเห็น (ตาบอดสนิท) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คณะศึกษาศาสตร์ สาขาสังคมศึกษา โดยใช้ความสามารถสอบคัดเลือกเข้าศึกษาในระบบกลาง (Admission) ซึ่งเป็นการสอบแข่งขันกับเด็กไม่พิการ กล่าวว่า เข้าร่วมกิจกรรมนี้ โดยมุ่งหวังอยากให้รุ่นน้องคนพิการได้รับความรู้เรื่องการสอบเข้าและการเรียนต่อในระดับชั้นอุดมศึกษา เพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดกับคนพิการ​“รู้สึกดีใจที่มีงานนี้เกิดขึ้นให้กับรุ่นน้องคนพิการ เพราะมองว่างานที่ส่งเสริมด้านการศึกษาแก่คนพิการจริง ๆ นั้นมีน้อยมาก และจะทำให้น้อง ๆ คนพิการได้รับความรู้จากงานนี้ไปเพิ่มมากขึ้นจริง ๆ”นางสาวธนัญชกร กล่าว

​สำหรับภายในงานมีกิจกรรมน่าสนใจ อาทิ บูธการรับเข้าและดูแลนักศึกษาพิการจากศูนย์บริการนักศึกษาพิการของมหาวิทยาลัยและอาชีวศึกษากว่า 18 สถาบัน กิจกรรมเวิร์คชอปปั้นฝันเป็นตัว การทำแฟ้มสะสมผลงาน และเทคนิคการสอบสัมภาษณ์ รวมถึงเพิ่มพลังใจจากการรับ

ฟังรุ่นพี่นักศึกษาคนพิการด้านต่างๆ อาทิ ครูไอซ์ ดำเกิง มุ่งธัญญา , น้องธันย์ ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์ เพื่อให้นักเรียนคนพิการได้รับข้อมูลด้านการศึกษาที่รอบด้าน เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจวางแผนการศึกษาต่อที่ชัดเจนมากขึ้น