เวทีออนไลน์ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายเรื่องเด็กปฐมวัยอย่างมีส่วนร่วม เน้นเฝ้าระวัง ป้องกัน-เยียวยา ปัญหาความรุนแรงต่อเด็กในโรงเรียน

อนุบาลสุขใจ สร้างวินัยเชิงบวก

1,000 วันแรกของชีวิต คือ ช่วงเวลาแสนมหัศจรรย์ที่สำคัญต่อสมองมากที่สุด เป็นช่วงเวลาที่สมองของเด็กสามารถพัฒนาและเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ช่วงปฐมวัย ถือเป็นเวลาทองในชีวิตของเด็ก ๆ ที่พ่อแม่ และครู จะปลูกฝังให้เด็กได้เรียนรู้ และมีพัฒนาการทางสมองที่ดีเยี่ยม

นอกจากครอบครัว พ่อแม่แล้ว “ครู” ยังเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยสร้างให้เด็ก ๆ เติบโตและเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โรงเรียนอนุบาล หรือที่เราเรียกกันว่า เนอสเซอรี่ จึงเป็นบ้านหลังที่สองที่จะช่วยให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ทักษะต่าง ๆ ได้พัฒนาทักษะทั้งด้านร่างกายและจิตใจให้เติบโตไปอย่างแข็งแรง

“ตื่นเช้าไปบ้าน ไม่ใช่ไปโรงเรียน” คำกล่าวของ ครูอุ้ย หรือแม่อุ้ย อภิสิรี จรัลชวนะเพท   ผู้เชี่ยวชาญการศึกษาวอลดอร์ฟ อนุบาลบ้านรักษ์ ผู้ที่ทำให้โรงเรียนอนุบาลเป็นบ้านแห่งความสุข และเป็นบ้านแห่งการเรียนรู้ทักษะชีวิตของเด็ก ๆ โดยยึดหลักสำคัญที่ว่าการศึกษาที่เหมาะสมกับเด็ก ต้องรักษาความเป็นธรรมชาติของเด็กไว้ เปิดโอกาสให้จิตวิญญาณ ร่างกาย อารมณ์และสติปัญญาของเด็กได้พัฒนาไปพร้อมกันอย่างสมดุล และเหมาะสมกับช่วงวัย

 

ครูอุ้ย กล่าวว่า “การเรียนรู้ของเด็ก เราต้องมองให้ออกว่าธรรมชาติของเด็กต้องการอะไร สิ่งสำคัญที่เด็กควรจะได้รับ คือการเรียนรู้ทักษะพื้นฐานในชีวิต และการเล่นอย่างมีอิสระ งานบ้าน งานครัว งานสวน คือวิชาพื้นฐานของชีวิตที่เด็ก ๆ จะต้องเรียนรู้ด้วยตนเอง

ครูอุ้ย กล่าวต่อว่า บทบาทสำคัญคือครูพี่เลี้ยง หรือ แม่ครู ที่จะต้องดูแลอนุบาลเด็ก ๆ ถึง 3 ปี ซึ่งใน 3 ปีนี้ คือช่วงเวลาที่มีค่าของเด็ก ๆ เพราะฉะนั้นต้องดูแลเขาให้เต็มที่ และต้องอนุบาลเด็กให้เขารู้สึกว่าได้รับความรัก การดูแลเอาใจใส่จากครูพี่เลี้ยง เหมือนที่ได้รับจากพ่อและแม่ เพื่อสร้างความอบอุ่นใจให้กับเด็ก”

“เด็กเรียนรู้ผ่านการเล่น เพราะการเล่นสำคัญมาก ๆ และส่งผลโดยตรงต่อพัฒนาการของเด็ก” ครูเกม ภูวฤทธิ์ ภูวภิรมย์ขวัญ โรงเรียนอนุบาลช้างเผือก กล่าวถึงความสำคัญของการดูแลเด็กปฐมวัยในโรงเรียนอนุบาล การเล่นอย่างอิสระนั้นมีความสำคัญมากกับพัฒนาการทางสมองของเด็ก ครูเกม กล่าวว่า เด็กต้องเรียนรู้ผ่านการเล่น เพื่อให้เกิด Mind Drive คือเกิดแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ด้วยตนเอง  และ Mind Education  คือ การที่เด็กรู้ว่าตัวเองถนัดและมีความสามารถ มีพรสวรรค์ในเรื่องไหน เพื่อให้เกิดการต่อยอดต่อไป โดยมีครูและพ่อแม่เป็นผู้สนับสนุน และพ่อแม่เองไม่ควรเอาความต้องการ และความคาดหวังไปไว้ในตัวลูก

“การปล่อยให้เด็กได้เล่นอย่างมีอิสระ ทำให้เด็กมีความสุข สนุกสนานจากการเล่น เพราะการเล่นคือ งานของเด็ก เด็กต้องเล่น การเล่นสำคัญมาก ๆ เพราะแฝงไปด้วยการเรียนรู้มากมายเลย เมื่อเด็กมีความสุข เขาจะเรียนรู้ได้ดี มีทักษะทางสมองที่มีประสิทธิภาพอย่างน่าอัศจรรย์ ” ครูเกม กล่าว

โจทย์สำคัญในสังคมไทยตอนนี้ คือการเป็นสังคมสูงวัย ทำให้ต้องเพิ่มการลงทุนในการพัฒนาเด็กปฐมวัย เพื่อให้เติบโตอย่างมีคุณภาพและช่วยดูแลสังคมเราต่อไปได้ ต้องเร่งสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เป็นพื้นที่เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ ให้กับเด็กปฐมวัยอย่างถ้วนหน้า นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สสส.) กล่าวถึงการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย

“การดูแลเด็กปฐมวัยนั้น พ่อแม่และครู ต้องเป็นทีมเดียวกัน โดยมีเด็กเป็นเป้าหมาย เป็นศูนย์กลาง ใช้ความรู้สมัยใหม่ในการเลี้ยงดูเด็ก หรือที่เรียกว่า วินัยเชิงบวก ส่งเสริมให้เด็กมีทักษะพื้นฐานชีวิต ส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านการเล่น  เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการทางสมองที่สมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ ซึ่งการพัฒนาเด็กปฐมวัยเป็นภารกิจที่หลายหน่วยงานมีหน้าที่ร่วมกัน โดยประเทศไทยมีกลไกระดับชาติทำหน้าที่กำหนดทิศทาง” ณัฐยา กล่าว

10 เทคนิคการสร้างวินัยเชิงบวกให้กับเด็ก ๆ

  1. หลักการทำให้เป็นเรื่องใหญ่ ชื่นชมอย่างเฉพาะเจาะจงเด็กแบบตัวต่อตัวในพฤติกรรมที่เด็กแสดงออกเช่น หนูเก่งมากเลยเก็บของเล่นก่อนแม่ทำกับข้าวเสร็จเสียอีก
  2. หลักการมองระดับสายตา คือ การทำให้เด็กรู้สึกว่าได้รับการใส่ใจ มีคุณค่าและเชื่อใจ จะทำให้ ef ทำงานได้ดีขึ้น
  3. หลักการให้ทางเลือกเชิงบวก 2 ทาง เพื่อฝึกให้เด็กคิดเป็น ฝึกตัดสินใจ มีความคิดยืดหยุ่น
  4. หลักการเบี่ยงเบนพฤติกรรม เช่น เด็กเคาะโต๊ะ ไม่สั่งห้ามให้หยุดทำแต่ให้ทำอย่างอื่นแทน
  5. หลักการให้ความสำคัญ ทำให้เด็กรู้สึกมีส่วนสำคัญในครอบครัว โดยมอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบให้เด็ก เช่น การช่วยทำงานบ้าน เมื่อเด็กทำก็ชื่นชมตัวเด็ก
  6. หลักการกระซิบ ไม่ตะโกนใส่เด็กเพื่อให้ทำตามคำสั่ง หากเป็นเสียงกระซิบเด็กจะใส่ใจฟัง สนใจและยอมทำตามมากกว่า
  7. หลักการอะไรก่อนหลัง กำหนดเงื่อนไขที่น่าสนใจเพื่อลดการต่อต้าน เช่นทำการบ้านเสร็จแล้ว ไปเล่นได้
  8. หลักการตั้งเวลา ฝึกให้รู้จักการวางแผน
  9. หลักการส่งความรู้สึก เพื่อบอกความรู้สึกของเราทำให้เด็กเรียนรู้ว่าทุกการกระทำของเขาส่งผลต่อผู้อื่นเสมอ
  10. หลักการแสดงความเข้าใจ ทำให้เด็กรู้ตัวว่ากำลังมีอารมณ์อะไร รู้สึกอย่างไร รับรู้อารมณ์ตัวเอง รู้ว่าต้องจัดการอย่างไรกับอารมณ์ของตัวเอง

ออกมาเล่น Active Play ดียังไง?

เพราะการเล่นอย่างมีอิสระสำคัญกับเด็ก ๆ และมีผลต่อการพัฒนาทักษะทางสมอง เพื่อให้เด็ก ๆ เติบโตสมวัย มีพื้นฐานทางร่างกายและจิตใจที่แข็งแรง สสส. และภาคีเครือข่าย ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กทุกช่วงวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กปฐมวัย และพร้อมสนับสนุนให้เด็กได้เรียนรู้ มีทักษะพื้นฐานสำคัญในชีวิต ส่งเสริมการดูแลเด็กด้วยวินัยเชิงบวก เพื่อให้เด็กปฐมวัยมีสุขภาวะที่ดีและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาสังคมไทยต่อไป