กรมอนามัย ห่วงเมนูเจปลอมปนเนื้อสัตว์ หนุนกินเมนูปรุงจากธัญพืช ถั่วเมล็ดแห้ง ได้โปรตีนครบ

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือนซื้ออาหารเจจากร้านที่ไม่ได้มาตรฐานอาจเจอปลอมปนเนื้อสัตว์ แนะนำกินเมนูเจที่ปรุงจากอาหารแห้ง ธัญพืช ถั่วเมล็ดแห้ง ช่วยร่างกายได้โปรตีนและคุณค่าทางโภชนาการ  พร้อมย้ำหากเก็บอาหารแห้งไม่เหมาะสม หวั่นเชื้อราปนเปื้อน

นายแพทย์สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในช่วงกินเจ ร่างกายจะไม่ได้รับโปรตีนและธาตุเหล็กจากเนื้อสัตว์ แต่จะได้จากการบริโภคอาหารแห้งประเภทธัญพืชและ  ถั่วเมล็ดแห้งแทน เช่น ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วดำ รวมทั้งเต้าหู้ โปรตีนเกษตร แต่สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ทำเลียนแบบเนื้อสัตว์ในรูปแบบต่าง ๆ เป็นโปรตีนที่ไม่สมบูรณ์ทำมาจากแป้ง จึงไม่เหมาะสำหรับเด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วย และบางครั้งการเลือกซื้ออาหารเจจากแหล่งหรือร้านที่ไม่ได้มาตรฐาน อาจจะพบการปลอมปนของเนื้อสัตว์ในอาหารเจได้ โดยเฉพาะกลุ่มอาหารเลียนแบบเนื้อสัตว์ที่มีการตรวจพบ DNA ของเนื้อสัตว์ปนเปื้อน ซึ่งหากมีการตรวจพบความไม่ปลอดภัยหรือการหลอกลวงก็สามารถดำเนินการทางกฎหมายได้ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคในการเลือกซื้ออาหารเจที่ปลอดภัย ควรสังเกตดังนี้ 1)  เลือกซื้อจากร้านอาหารที่เข้าร่วม  ในเทศกาลกินเจเนื่องจากร้านเหล่านี้ได้ผ่านการตรวจสอบการปนเปื้อนแล้วหรือถ้าเป็นร้านทั่วไปควรเลือกซื้อ จากร้านที่คุ้นเคยกันหรือสังเกตจากสัญลักษณ์ธงสีเหลือง  2) ถ้าสังเกตพบว่าอาหารที่ทำเลียนแบบเนื้อสัตว์ มีลักษณะของสีและกลิ่นรวมถึงรสชาติที่ผิดแปลกไปก็สามารถส่งตรวจสอบการปนเปื้อนของอาหารได้  3) เลือกซื้อจากร้านที่มีป้ายสัญลักษณ์อาหารสะอาด รสชาติอร่อย (Clean Food Good Taste) และ 4) ควรเลือกบริโภคอาหารเจที่ปรุงประกอบจากอาหารแห้ง ธัญพืช และถั่วเมล็ดแห้งแทนก็จะได้โปรตีนทดแทนครบคุณค่าทางโภชนาการ

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญในการบริโภคและปรุงประกอบอาหารแห้ง ธัญพืช และถั่วเมล็ดแห้ง คือเชื้อราที่ปนเปื้อนในวัตถุดิบดังกล่าว ที่เกิดจากการเก็บรักษาที่ไม่เหมาะสม เช่น    เก็บไว้ในที่ชื้นเกินไป หรือไม่มีการอบให้แห้งดีพอ ก่อให้เกิดสารอะฟลาท็อกซินได้ การป้องกันที่ดีจึงต้องเลือก ถั่วเมล็ดแห้งที่ใหม่และเก็บไว้ในภาชนะที่แห้งพอ โดยก่อนที่จะนำมาปรุงประกอบอาหารควรล้างให้สะอาดเพื่อขจัด สิ่งปนเปื้อนที่อยู่ในถั่วเมล็ดแห้ง ธัญพืชต่าง ๆ และควรปรุงสุกทุกครั้งก่อนนำมาบริโภค นอกจากนี้ยังสามารถ เพิ่มคุณค่าทางโภชนาการด้วยการกินข้าวกล้องแทนข้าวขาว ที่ช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารประเภทวิตามินบีต่าง ๆ หลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง เช่น ผักดอง ผลไม้ดอง เครื่องกระป๋อง อาหารสำเร็จรูป อาหารแปรรูป โดยบริโภคอาหารสดที่ปรุงใหม่ๆ จะให้คุณประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่า

“ทั้งนี้ การกินเจที่ถูกหลักโภชนาการ นอกจากจะส่งผลดีต่อจิตใจแล้ว ยังช่วยทำให้ร่างกายของผู้ที่มีปัญหา เช่น น้ำหนักเกินก็สามารถช่วยลดน้ำหนักส่วนเกินได้ และช่วยให้อวัยวะที่ใช้ในการขับถ่ายไม่อุดตัน โดยเน้นกินผักหลากสี และผลไม้สดรสไม่หวานจัด เช่น ฝรั่ง มะละกอ ชมพู่ เป็นต้น ซึ่งไม่เฉพาะในช่วงกินเจเท่านั้น แต่ควรกินผักเป็นประจำมื้อละ 1-2 ทัพพี ส่วนผลไม้ควรกินหลังอาหาร ซึ่งจะมีวิตามินซีช่วยดูดซึมธาตุเหล็กในผักใบเขียว ช่วยลดภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ” รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

***

ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 21 ตุลาคม 2563