ชป. วางแผนช่วยเหลือเมืองโคราช

กรมชลประทาน  โดยศูนย์บริหารจัดการอุทกภัยลุ่มน้ำมูลตอนบน(ส่วนหน้า) ประชุมติดตามสถานการณ์น้ำจังหวัดนครราชสีมา พร้อมวางแผนการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาอุทกภัยอย่างมีประสิทธิภาพ

วันที่ 20 ต.ค.63 ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะประธานคณะทำงานศูนย์บริหารจัดการอุทกภัยลุ่มน้ำมูลตอนบน(ส่วนหน้า) เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารจัดการอุทกภัยลุ่มน้ำมูลตอนบน(ส่วนหน้า) ครั้งที่1/2563 เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและแผนบริหารจัดการน้ำในสถานการณ์น้ำหลาก รวมถึงการให้ความช่วยเหลือ ผ่านระบบ VDO Conference ไปยังศูนย์บริหารจัดการอุทกภัยลุ่มน้ำมูลตอนบน(ส่วนหน้า) สำนักงานชลประทานที่ 8 โดยมี นายธีระพล ตั๊งสมบุญ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา  นายเกียรติศักดิ์ หนูแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 นายปกรณ์ สุตสุนทร ผู้เชียวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา ดร.วัชระ เสือดี ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสำนักงานชลประทานที่8 จังหวัดนครราชสีมา

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากอิทธิพลของพายุ “หลิ่นฟา” และพายุ “นังกา” ส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง และอ่างเก็บน้ำลำตะคอง รวมทั้งในลำน้ำต่างๆ มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น ท่วมพื้นที่ชุมชน นั้น กรมชลประทาน จึงได้จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการอุทกภัยลุ่มน้ำมูลตอนบน(ส่วนหน้า) ทำหน้าที่เป็นศูนย์บัญชาการ ประสานงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการแก้ไขและช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัย เฝ้าระวัง ติดตาม และวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ เพื่อให้การดำเนินงานแก้ไขและบรรเทาอุทกภัย รวมถึงการบูรณาการให้ความช่วยเหลือประชาชน เป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพ  ตลอดจนทำการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้ประชาชนได้รับรู้รับทราบถึงสถานการณ์น้ำ  เพื่อลดความสับสนและความตื่นตระหนกของประชาชน

นายเกียรติศักดิ์ หนูแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 ในฐานะรองประธานคณะทำงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน(20ต.ค.63) เขื่อนลำตะคอง มีปริมาณทั้งสิ้น 330 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 104 ของความจุอ่าง ส่วนเขื่อนลำพระเพลิง มีปริมาณน้ำทั้งสิ้น 165 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ106 ของความจุอ่างฯ  มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอพิมาย อำเภอโชคชัย และอำเภอปักธงชัย สำนักงานชลประทานที่ 8 ได้วางแผนการช่วยเหลือ ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์บริหารจัดการอุทกภัยลุ่มน้ำมูลตอนบน(ส่วนหน้า) ด้วยการ “แตกแรง” ตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยออกเป็น 4 ฝ่าย ได้แก่ 1.ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะSWOC8 ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด 2.ฝ่ายเครื่องจักรกลเตรียมพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือเข้าช่วยเหลือ  3.ฝ่ายประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้แก่ประชาชน 4.ฝ่ายปฏิบัติการลงพื้นที่แก้ไขสถานการณ์และประสานงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนในพื้นที่ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ตลอด 24 ชั่วโมง

………………………………..

ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์