‘กรมเจรจาฯ’ ปลื้ม FTA หนุนส่งออกอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป 8 เดือนแรก ตลาดอาเซียนโตกว่า 41%

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผย 8 เดือนแรกอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปส่งออกโตต่อเนื่อง โกยเงินเข้าประเทศกว่า 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ปลื้ม FTA ทำตลาดอาเซียนโต 41%ดันไทยครองแชมป์ผู้ส่งออกทูน่ากระป๋อง อันดับ 1 ของโลก หนุนใช้เอฟทีเอช่วยปลดล็อคข้อจำกัดทางการค้า

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า สินค้าอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปของไทยเติบโตได้แม้ในภาวะเศรษฐกิจโลกผันผวน เนื่องจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปของไทยมีศักยภาพในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้มีความต้องการสินค้าอาหารที่สามารถเก็บไว้ได้นานเพิ่มมากขึ้น และไทยยังมีแต้มต่อจากความตกลงการค้าเสรีช่วยปลดล็อคกำแพงภาษีศุลกากรที่ประเทศคู่เอฟทีเออีกด้วย

ซึ่งปัจจุบันประเทศที่ไทยทำเอฟทีเอด้วย 15 ประเทศจาก 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 9 ประเทศ จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู และฮ่องกง ได้ยกเลิกภาษีศุลกากรที่เก็บจากไทยแล้วทุกรายการ ยกเว้น 3 ประเทศที่ยังคงเก็บภาษีนำเข้าบางรายการ เช่น ญี่ปุ่นเก็บภาษีนำเข้าปลาแปรรูปต่างๆ เช่น ซาร์ดีน แฮริ่ง แอนโชวี่ รวมถึงปูแปรรูปที่ 5% ปูกระป๋องที่ 9.6% เกาหลีใต้เก็บภาษีนำเข้าปลาทูน่ากระป๋องหรือแปรรูปที่ 20% ปลาซาร์ดีนกระป๋องที่ 16% และ อินเดีย เก็บภาษีนำเข้าปลาทูน่ากระป๋อง และกุ้งกระป๋องและแปรรูปที่ 30% เป็นต้น

นางอรมน เพิ่มเติมว่า ปัจจัยดังกล่าวทำให้การส่งออกอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปขยายตัวต่อเนื่อง     โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่าส่งออกสู่ตลาดโลก 2,583.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 5% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ ปลาทูน่ากระป๋องส่งออก 1,564 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 11% ปลาแปรรูปส่งออก 253 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 23% กุ้งกระป๋องส่งออก 163 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 10% ปลาซาร์ดีนกระป๋องส่งออก 105 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 2% และหอยลายแปรรูปส่งออก 5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 23.5% เป็นต้น ตลาดส่งออกสำคัญ อาทิ สหรัฐอเมริกาส่งออก 729 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 24% ออสเตรเลียส่งออก 170 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 2.4% และอาเซียนส่งออก 120 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 41%

และจากสถิติข้างต้น พบว่า อาเซียน เป็นตลาดส่งออกที่น่าจับตามอง เนื่องจากมูลค่าการส่งออกของไทยไปยังประเทศสมาชิกขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกตลาด เช่น กัมพูชา เพิ่มขึ้น 52% สิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 61% มาเลเซีย เพิ่มขึ้น 19% ฟิลิปปินส์ เพิ่มขึ้น 88% เป็นต้น สินค้าที่เติบโตได้ดี ได้แก่ ทูน่ากระป๋อง ซาร์ดีนกระป๋อง และปลาแปรรูป ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปอันดับที่ 2 ของโลก รองจากจีน และครองแชมป์ผู้ส่งออกสินค้าทูน่ากระป๋องอันดับที่ 1 ของโลกอีกด้วย

“นอกจากประโยชน์ในด้านการส่งออกแล้ว เอฟทีเอยังช่วยลดต้นทุนวัตถุดิบที่นำเข้ามาใช้ในการผลิตอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และสามารถเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบที่หลากหลายขึ้น เนื่องจากภายใต้เอฟทีเอไทยได้ลดเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าประมงกลุ่มวัตถุดิบที่ไทยขาดแคลนและจำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ อาทิ ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน แล้ว เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบในการแข่งขัน ขอให้ผู้ประกอบการพิจารณาใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีในการส่งออก” นางอรมน เสริม

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ความตกลงเอฟทีเอแต่ละฉบับมีผลใช้บังคับ มูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปของไทยไปประเทศคู่เอฟทีเอจนถึงปี 2562 พบว่า ขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกตลาด เช่น ญี่ปุ่น (59%) ออสเตรเลีย (114%) อาเซียน (614%) จีน (3,499%) เปรู 2,674% เกาหลีใต้ 246% นิวซีแลนด์ 98% อินเดีย 87% และชิลี 27% เป็นต้น สอดคล้องกับสถิติที่ผู้ประกอบการไทยขอใช้สิทธิประโยชน์ส่งออกอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปด้วยเอฟทีเอสูงเป็นอันดับต้นๆ

——————————

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ  กระทรวงพาณิชย์

19 ตุลาคม 2563