รมว. ดีอีเอส ถกคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาดิจิทัลฯ พิจารณาเห็นชอบ แนวปฏิบัติจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ (Thailand AI Ethics Guideline)

คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หารือเรื่องแนวปฏิบัติจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ (Thailand AI Ethics Guideline) โดยมีนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)  เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ครั้งที่ ๒/๒๕๖๓ ณ ห้องประชุม MDES-1 ชั้น ๙ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมอาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๖๓

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่าจากยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี ยุทธศาสตร์ที่ ๒ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์ในการเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมและบริการร่วมกับแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ยุทธศาสตร์ที่ ๖ การสร้างความเชื่อมั่นในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล กำหนดมาตรการและแนวปฏิบัติสำหรับผู้ให้บริการทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้รับบริการ ประกอบกับยุทธศาสตร์กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. ๒๕๖๓ – ๒๕๖๗ ยุทธศาสตร์ที่ ๑ เรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศ ซึ่งมีกลยุทธ์ที่จะพัฒนาและส่งเสริมการลงทุนและการใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (IoT) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อรองรับการเติบโตของการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลในอนาคต จึงต้องมีการจัดทำแนวปฏิบัติจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ (Thailand AI Ethics Guideline) นี้ขึ้น

นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา กล่าวว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดย สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและมหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ร่วมกันจัดทำแนวปฏิบัติจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ ขึ้นเพื่อให้ผู้วิจัย ผู้ออกแบบ ผู้พัฒนาและผู้ให้บริการปัญญาประดิษฐ์ใช้เป็นแนวทางสำหรับการดำเนินงานของตนเอง และให้ผู้รับบริการได้ทราบถึงสิทธิและตระหนักรู้ถึงความเสี่ยงของการใช้บริการปัญญาประดิษฐ์ โดยมีหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานกำกับดูแลปัญญาประดิษฐ์ ทั้งระดับประเทศและระดับองค์กร ใช้เป็นแนวทางในการส่งเสริม สนับสนุน รวมถึงกำกับดูแลเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เพื่อทำให้ปัญญาประดิษฐ์มีความน่าเชื่อถือ มั่นคงปลอดภัย ได้รับการพัฒนาและใช้งาน ก่อให้เกิดประโยชน์กับมนุษย์ สังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยความโปร่งใส ครอบคลุมและเป็นธรรม สอดคล้องกับกฎหมาย จริยธรรมและสิทธิมนุษยชน ซึ่งผู้ที่ปฏิบัติตามแนวทางจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์จะได้มีบริการทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ส่งผลให้มีบริการปัญญาประดิษฐ์ที่มีประสิทธิภาพในทุกมิติ และสามารถให้บริการได้อย่างยั่งยืนได้