กรมอนามัย แนะกินเจ ยึด 4 ล. “ล้าง ลด เลี่ยง เลือก” สร้างสุขภาพดี

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะนำประชาชนในช่วงเทศกาลกินเจ 10 วัน ยึดหลัก 4 ล. “ล้าง ลด เลี่ยง เลือก” เพื่อสุขอนามัยที่ดี ได้โปรตีนและคุณค่าทางโภชนาการ สร้างสุขภาพดีตามมา

วันที่ 16 ตุลาคม 2563 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยหลังเป็นประธานเปิดงานรณรงค์ “กินเจ อิ่มบุญ มือสะอาด สุขภาพดี วิถีใหม่” ณ ลานกิจกรรม Outlet Square เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี ว่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ดร.สาธิต  ปิตุเตชะ) ให้ความสำคัญต่อมาตรการคุมเข้มด้านสุขลักษณะและข้อกำหนดพื้นฐานของแผงลอยจำหน่ายอาหารริมบาทวิถี (Street Food Good Health) มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในช่วงช่วงเทศกาลกินเจนี้ พ่อค้าแม่ค้ามักมีการปรุงประกอบอาหารเจจำหน่ายเป็นจำนวนมาก การปรุงประกอบอาหารที่ไม่สะอาด ไม่ถูกหลักโภชนาการ อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพผู้บริโภคได้ กรมอนามัยจึงแนะหลัก 4 ล. เพื่อสุขภาพที่ดี ดังนี้

1) ล.ล้าง ต้องล้างวัตถุดิบที่นำมาปรุงประกอบอาหารเจ โดยเฉพาะผัก ผลไม้ ให้สะอาด โดยแช่ในน้ำนาน 15 นาที จากนั้นเปิดน้ำไหลถูไปมาประมาณ 2 นาที ลดสารพิษตกค้างได้ 25 – 63 เปอร์เซ็นต์ หรือใช้น้ำส้มสายชู 5 เปอร์เซ็นต์ 1 ช้อนโต๊ะผสมน้ำ 4 ลิตร แช่นาน 15 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด ลดสารพิษตกค้างได้ 60 – 84 เปอร์เซ็นต์ หรือใช้เบคกิ้งโซดา(ผงฟู)  ½ ช้อนโต๊ะผสมน้ำ 10 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 15 นาที  แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด ลดสารเคมีตกค้างได้ 90 – 95 เปอร์เซ็นต์ สำหรับผักกาด กะหล่ำปลี ควรคลี่ใบออกก่อนล้าง และเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคควรเลือกใช้ผักปลอดสารพิษที่มีการรับรองโดยหน่วยงานภาครัฐจากแหล่งผลิตในการปรุงประกอบ  อาหารเจ แทนการใช้ผักที่มีความเสี่ยงปนเปื้อนสารพิษจะปลอดภัยกว่า

2) ล.ลด อาหารเจที่ปรุงเองหรือปรุงจำหน่าย ต้องคำนึงถึงการเติมสารปรุงแต่งอาหารที่ให้รสเค็มหรือหวานมากจนเกินไป เพราะความเค็มจะมีโซเดียมสูง ส่งผลต่อการเกิดภาวะความดันโลหิตสูงและทำให้ไตทำงานหนัก ส่วนความหวานจะทำให้เสี่ยงเป็นโรคเบาหวานได้ ผู้ปรุงจึงควรลดการเติมซอส ซีอิ๊ว น้ำตาล และผู้บริโภคต้องเลือกอาหารเจที่มีรสชาติไม่เค็มหรือหวานจนเกินไป

“3) ล.เลี่ยง ควรเลี่ยงอาหารเจที่มีแป้งมาก และเลี่ยงอาหารประเภทผัด ทอด กะทิ เพราะมีไขมันสูง หากได้รับมากเกินความจำเป็นของร่างกายจะทำให้น้ำหนักเกินและอ้วนได้ ควรเน้นอาหารเจประเภทแกงไม่ใส่กะทิ ต้มที่มีผักเป็นส่วนประกอบ เช่น ต้มจืดเจ ต้มยำเจ พะโล้เจ ต้มจับฉ่าย แกงเลียง แกงป่า เป็นต้น

และ 4) ล.เลือก เนื่องจากอาหารเจเป็นอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์ ดังนั้น ผู้บริโภคจึงควรเลือกกินอาหารทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ จากอาหารประเภทถั่วเมล็ดแห้งหรือผลิตภัณฑ์จากถั่ว เช่น เต้าหู้แผ่น เต้าหู้หลอด โปรตีนเกษตร น้ำเต้าหู้ ฟองเต้าหู้ โดยกินอาหารที่ปรุงจากถั่วเมล็ดแห้ง เช่น ถั่วเขียวหรือถั่วแดงต้มน้ำตาล ข้าวเหนียวถั่วดำ เป็นต้น เพื่อให้ร่างกายได้รับโปรตีนอย่างเพียงพอ และเลือกผลไม้ที่ไม่หวานจัดเพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินและเส้นใยอาหาร ช่วยให้ร่างกายทำงานเป็นปกติและเสริมสร้างภูมิต้านทานโรค” นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าว

รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับการเลือกซื้ออาหารเจสำเร็จรูปนั้น ควรเลือกร้านที่ผู้สัมผัสอาหารมีสุขนิสัยที่ดี เช่น สวมผ้ากันเปื้อน หมวกคลุมผม ใช้อุปกรณ์หยิบจับอาหารหรือใส่ถุงมือ ทั้งนี้ ผู้สัมผัสอาหารต้องผ่านการอบรมหลักสูตรการสุขาภิบาลอาหารสำหรับผู้สัมผัสอาหารตามกฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จําหน่ายอาหาร พ.ศ. 2561 มีการใช้ภาชนะบรรจุอาหารที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และควรเลือกซื้ออาหารเจจากร้านอาหารหรือแผงลอยมีป้ายสัญลักษณ์อาหารสะอาด รสชาติอร่อย (Clean Food Good Taste) หรือร้านอาหารที่ผ่านการรับรองจากภาครัฐ

…………………………….

ศูนย์สื่อสารสาธารณะ /  16 ตุลาคม 2563