กรมการแพทย์พัฒนาการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองแบบองค์รวม

โรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ จัดประชุมวิชาการวันการดูแลแบบประคับประคองสากล (World Hospice & Palliative Care Day 2018) พัฒนาการรักษาผู้ป่วยแบบประคับประคองในระยะท้ายของชีวิต ครอบคลุมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม โดยแพทย์ จิตแพทย์ พยาบาล เภสัชกร โภชนาการ นักสังคมสงเคราะห์ อาสาสมัคร/จิตอาสา เพื่อให้การดูแลรักษาเป็นไปตามมาตรฐาน ภายใต้ระบบการดูแลแบบบูรณาการและต่อเนื่อง

วันที่ 12 ตุลาคม 2561 ที่โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ สีลม  กรุงเทพมหานคร  นายแพทย์สมศักดิ์  อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการวันการดูแลแบบประคับประคองสากล (World Hospice & Palliative Care Day 2018) ซึ่งจัดโดยโรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดนโยบายระดับชาติ เร่งรัดดำเนินการระบบการสร้างเสริมสุขภาวะสำหรับผู้สูงอายุ และผู้อยู่ในภาวะพึ่งพิงรวมทั้งผู้ป่วยในระยะท้ายของชีวิต โดยมอบหมายให้กรมการแพทย์เป็นองค์กรหลักในการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง ซึ่งกรมการแพทย์มีนโยบายที่ชัดเจนและกำหนดเป้าหมายให้โรงพยาบาลทั้งในและนอกสังกัดกรมการแพทย์  รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การดูแลผู้ป่วยในทุกขั้นตอน ควบคู่ไปกับการรักษาแบบจำเพาะ

การจัดประชุมในวันนี้ เป็นโอกาสสำคัญในการประชาสัมพันธ์ และสื่อสารนโยบายด้าน Palliative careของโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ โรงพยาบาลใน 12 เขตสุขภาพ รวมทั้งภาคีเครือข่ายต่างๆ เช่น โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร ในการสร้างความเข้าใจและร่วมมือกันเพื่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว ทั้งนี้ กรมการแพทย์ได้มีการจัดงาน  World Hospice & Palliative Care Day  เป็นประจำต่อเนื่องทุกปี ซึ่งคำขวัญในปีนี้คือ Palliative Care – Because I matter หมายถึง การดูแลแบบประคับประคองเพราะฉันสำคัญ เนื่องจากระยะท้ายของชีวิต เป็นปัญหาละเอียดอ่อน ซับซ้อนเชื่อมโยงทั้งกาย จิต สังคม จิตวิญญาณ และบางรายยังมีประเด็นทางจริยธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ประเด็นขัดแย้งกรณียุติการรักษา การช่วยให้จากไปอย่างสงบ สะท้อนให้เห็นความสำคัญของการดูแลแบบประคับประคองในระยะท้ายของชีวิตครอบคลุมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม ที่ต้องได้รับการพัฒนาอย่างเร่งด่วนเพื่อรองรับผู้ป่วยที่ต้องการการดูแลแบบประคับประคองในปัจจุบันและอนาคต การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองระยะท้ายค่อนข้างมีความซับซ้อน ต้องอาศัยทีมสุขภาพหลายฝ่าย ทั้งแพทย์ จิตแพทย์ พยาบาล เภสัชกร โภชนาการ นักสังคมสงเคราะห์ อาสาสมัคร/จิตอาสา เพื่อให้การดูแลรักษาเป็นไปตามมาตรฐาน ภายใต้ระบบการดูแลแบบบูรณาการและต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อส่งเสริมให้ผู้ป่วยที่ต้องได้รับการดูแลแบบประคับประคองและผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิตได้รับการดูแลที่มีประสิทธิภาพ จึงมีวัตถุประสงค์ให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้การดูแลแบบประคับประคองระหว่างโรงพยาบาลและเครือข่าย ตลอดจนแบ่งปันวิสัยทัศน์เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงการดูแลแบบประคับประคองเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยและครอบครัวต่อไป