“อพส. เดินหน้ารุกจัดระเบียบในพื้นที่สวนลุมพินี”

วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม 2561 เวลา 08.30 น. ณ สวนลุมพินี นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ลงพื้นที่บูรณาการจัดระเบียบในพื้นที่สวนลุมพินี ร่วมกับ มูลนิธิอิสรชน กองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและสตรี (กก.ดส.) กรุงเทพมหานคร ตำรวจ สน.สวนลุมพินี สำนักดูแลสวนสาธารณะ เทศกิจ และบ้านมิตรไมตรีกรุงเทพมหานคร

นางนภา กล่าวว่า ตามที่ ท่าน พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ขานรับนโยบาย จากท่าน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้สั่งการให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดูแลและจัดระเบียบคนเร่ร่อนที่ใช้พื้นที่สวนสาธารณะเป็นที่พัก นั้น กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ซึ่งมีภารกิจในการให้ความคุ้มครองผู้ประสบปัญหาทางสังคม ผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก ตลอดจนคนไร้ที่พึ่ง ภายใต้ พระราชบัญญัติการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. 2557 ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่าย ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลกลุ่มเป้าหมายตามภารกิจ ในสวนลุมพินี ทั้งในด้านข้อมูลทั่วไป สภาพปัญหาและความต้องการ เพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มผู้ประสบปัญหาทางสังคมตามภารกิจ

นางนภา กล่าวต่อไปว่า จากการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ ข้อมูล ณ ปัจจุบัน พบว่า มีผู้ประสบปัญหาทางสังคมใช้ชีวิตอยู่ในที่สาธารณะรวมทั้งานสิ้น จำนวน 75 ราย เป็นเพศชาย 60 ราย เพศหญิง 15 ราย โดยมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 52 ปี มีภูมิลำเนาอยู่ที่ ภาคเหนือ จำนวน 1 ราย ภาคกลาง จำนวน 6 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 11 ราย กทม. จำนวน 10 ราย และอีก 47 คนไม่ให้ข้อมูล เมื่อสอบถามข้อมูลการเข้าถึงสวัสดิการแห่งรัฐ พบว่า มีจำนวน 14 รายที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ส่วนอีก 61 รายยังไม่มีบัตร ซึ่งผู้ประสบปัญหาทางสังคมส่วนใหญ่ไม่ให้ข้อมูลในการได้รับสวัสดิการของรัฐ ส่วนผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐสามารถจำแนกได้ ดังนี้ 1) ต้องการให้รัฐช่วยจัดหาอาชีพ จำนวน 8 ราย 2) ต้องการที่พักชั่วคราว จำนวน 6 ราย 3) ต้องการกลับภูมิลำเนา จำนวน 2 ราย 4) ต้องการการเข้าถึงแหล่งทุน จำนวน 4 ราย และ 5) ต้องการให้ช่วยเหลือเรื่องเงินยังชีพ หรือจัดทำบัตรประชาชน จำนวน 2 ราย ทั้งนี้ มีผู้ที่ไม่ต้องการรับความช่วยเหลือใดๆ จากรัฐ จำนวน 53 ราย นอกจากนี้ยังพบ ผู้ประสบปัญหาทางสังคมที่เป็นคนต่างด้าว จำนวน 2 ราย ซึ่งได้รับการช่วยเหลือจากกองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและสตรี (กก.ดส.) ในการประสานนำส่ง ตม. เพื่อกลับภูมิลำเนา

กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมที่จะยกระดับการให้บริการแก่ผู้ประสบปัญหาทางสังคม ผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก ให้ก้าวสู่สวัสดิการพื้นฐาน พัฒนาสู่การพึ่งพาตนเองอย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ทั้งนี้ หากพบเห็นคนไร้ที่พึ่ง เร่ร่อน ผู้ทำการขอทาน สามารถแจ้งสายด่วน 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งทั่วประเทศ นางนภา กล่าวตอนท้าย