“นายกตู่” สั่งกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผนึกกำลัง ดูแลแรงงานเก็บผลไม้ หาเงินเข้าไทย

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผย นายกรัฐมนตรี สั่งการกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันกำหนดมาตรการดูแลคนงานไทยที่เดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์และสวีเดน ฤดูกาลปี 2020 ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 กำชับต้องยึดความปลอดภัยทั้งแรงงานที่หาเงินเข้าประเทศและส่วนรวม

รมว.แรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานดำเนินการตามนโยบายของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการส่งเสริมให้แรงงานไทยเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และเพื่อเป็นการให้ความคุ้มครองคนงานไทยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กำหนดมาตรการในการดูแลและคุ้มครองคนงานไทยที่เดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์และสวีเดน ฤดูกาลปี 2020 ซึ่งเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 – ถึงวันที่ 13 สิงหาคม 2563 กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานได้พิจารณาอนุญาตการเดินทางไปเก็บผลไม้ป่า ฤดูกาลปี 2020 โดยมีบริษัทนายจ้างในประเทศไทยยื่นขออนุญาตพาลูกจ้างไปเก็บผลไม้ป่าในสวีเดน จำนวน 7 บริษัท มีคนงานที่เดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในสวีเดนจำนวนทั้งสิ้น 3,040 คน สำหรับการเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์ มีคนงานไทยแจ้งการเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์ จำนวนทั้งสิ้น 2,214 คน และมีบริษัทผู้รับซื้อผลไม้ป่าฟินแลนด์ จำนวน 15 บริษัท โดยกรมการจัดหางานได้ดำเนินการอบรมและชี้แจงทำความเข้าใจให้คนงานไทยทุกคนทราบและเข้าใจในเงื่อนไขและความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 ที่อาจเกิดขึ้นก่อนเดินทาง

ซึ่งเมื่อสิ้นสุดฤดูกาลเก็บผลไม้ป่าปี 2020 แรงงานส่วนใหญ่ได้ทยอยเดินทางกลับถึงประเทศไทย ระหว่างวันที่ 1 – 22 ตุลาคม 2563 โดยสายการบินไทย สายการบิน Emirates Airline สายการบิน Qatar Airline และสายการบิน Finnair จำนวน 21 เที่ยวบิน มีคนงานไทย คนงานสนับสนุน ตัวแทนของบริษัทรับซื้อผลไม้ป่าฟินแลนด์ และตัวแทนของบริษัทนายจ้างในประเทศไทยเดินทางกลับประเทศไทย จำนวนทั้งสิ้น 5,293 คน จากประเทศฟินแลนด์ จำนวน 2,240 คน และประเทศสวีเดน จำนวน 3,053 คน โดยทุกคนต้องเข้ารับการกักกันโรคเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน ในสถานที่กักกันแห่งรัฐทางเลือก (ASQ) และสถานที่กักกันรูปแบบเฉพาะองค์กร (OQ) ตามมาตรการควบคุมและป้องกันโรคที่รัฐบาลกำหนด

ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางานให้ความสำคัญด้านการดูแลสุขภาพ สภาพความเป็นอยู่ การป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 การรับรองรายได้และค่าใช้จ่ายของคนงาน ตลอดจนการจัดการเดินทางกลับประเทศไทย ตามนโยบายของรัฐบาลและข้อสั่งการของรมว.แรงงาน โดยให้บริษัทรับซื้อผลไม้ป่าฟินแลนด์และบริษัทนายจ้างสวีเดนและบริษัทนายจ้างในประเทศไทย ต้องดำเนินการจัดทำประกันสุขภาพให้คนงานไม่จำกัดวงเงินความคุ้มครอง รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการกักตัวในประเทศไทยระยะเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน จ่ายเงินชดเชย จำนวน 1,000,000 บาท กรณีเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด – 19 การตรวจหาเชื้อโควิด – 19 ก่อนไปและกลับประเทศ รวมทั้งจัดทำกรมธรรม์คุ้มครอง ค่ารักษาพยาบาลโรคติดเชื้อโควิด-19 ในฟินแลนด์เพิ่มเติม การรับรองรายได้ขั้นต่ำให้คนงาน และค่าใช้จ่ายทั้งหมดระหว่างรอเดินทางกลับประเทศไทย โดยบริษัทผู้รับซื้อผลไม้ป่าฟินแลนด์ต้องประกันรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายให้คนงานไทยไม่ต่ำกว่า 82,500 บาท และวางหลักประกันรายได้ หากคนงานไทยมีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายไม่ถึงจำนวนเงินดังกล่าว บริษัทฯ ต้องรับผิดชอบให้คนงานไทยมีรายได้เท่ากับ 82,500 บาท สำหรับประเทศสวีเดนนายจ้างสวีเดน/บริษัทนายจ้างในประเทศไทยต้องรับรองรายได้ขั้นต่ำรายเดือนให้คนงานไทยตามที่สหภาพแรงงานส่วนท้องถิ่นแห่งสวีเดน (Swedish Municipal Worker’s Union หรือ Kommunal) ประกาศกำหนด เป็นจำนวนเงินไม่ต่ำกว่า 22,049 โครนา สวีเดน คิดเป็นเงินไทยจำนวน 71,659 บาท (เจ็ดหมื่นหนึ่งพันหกร้อยห้าสิบเก้าบาทถ้วน)

“ จากข้อมูลล่าสุดถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2563 มีคนงานไทย คนงานสนับสนุน และตัวแทนบริษัทนายจ้างเดินทางกลับประเทศไทยแล้ว จำนวน 4,841 คน (คิดเป็นร้อยละ 91.5) เดินทางจากประเทศฟินแลนด์ จำนวน 1,788 คน และประเทศสวีเดน จำนวน 3,053 คน สร้างรายได้ให้ประเทศไทยประมาณ 618,341,720 บาท ทั้งยังสร้างรายได้ให้สถานประกอบการธุรกิจโรงแรมซึ่งเป็นสถานที่กักตัวของคนงานไทย มากกว่า 135,020,500 บาท ส่งผลให้มีการจ้างพนักงานเพื่อให้บริการคนงานไทยกลุ่มดังกล่าวเพิ่มเติม ซึ่งทำให้เกิดการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจ และยังเป็นการแก้ไขปัญหาการว่างงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้อีกทางหนึ่ง” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวเพิ่มเติม