“บิ๊กอู๋”มอบเงินเยียวยาครอบครัวเด็กไฟดูดที่โคราช พร้อมเอาผิดนายจ้างตามกฎหมาย

รมว.แรงงาน มอบเงินเยียวยาช่วยเหลือครอบครัวเด็กนักเรียนที่ถูกไฟฟ้าดูดขณะทำงานอยู่ที่ร้านคาร์แคร์ จ.นครราชสีมา ในช่วงปิดเทอม พร้อมดำเนินการเอาผิดนายจ้างตามกฎหมาย

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2561 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบเงินเยียวยาแก่ครอบครัวของนักเรียนที่ถูกไฟฟ้าดูดจนอาการสาหัสขณะทำงานอยู่ในร้านคาร์แคร์ จ.นครราชสีมา ซึ่ง ด.ช.ชัยวัฒน์ เสือสูงเนิน อายุ 13 ปี นักเรียนชั้น ม. 1 โรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งจังหวัดนครราชสีมา ทำงานร้านเอพี คาร์แคร์ ตั้งอยู่บ้านหนองบง หมู่ที่ 5 ต.สุรนารี อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา เพื่อหารายได้ในช่วงปิดเทอมเดือน มี.ค. – พ.ค. และถูกไฟฟ้าดูดได้รับบาดเจ็บสาหัสจนเป็นเหตุให้อัมพาตนอนติดเตียงนั้น ในส่วนของกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานตรวจสอบข้อเท็จจริงหากพบนายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายก็จะดำเนินการตามกฎหมาย รวมทั้งได้ให้สำนักงานประกันสังคมเข้าช่วยเหลือเยียวยาตามสิทธิประโยชน์แก่ลูกจ้างในทันที

พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวต่อว่า จากการสอบสวนข้อเท็จจริงจากนายจ้างลูกจ้างและรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พบว่า นายจ้างได้จ้าง ด.ช.ชัยวัฒน์ เสือสูงเนิน อายุ 13 ปี เข้าทำงานในตำแหน่งเด็กล้างรถ โดยได้รับค่าจ้างวันละ 200 บาท ซึ่งได้ดำเนินคดีกับนายจ้าง 1) มีความผิดตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 มาตรา 44 ใช้แรงงานเด็กต่ำกว่า 15 ปี มีอัตราโทษปรับตั้งแต่ 4 แสน ถึง 8 แสนบาท ต่อลูกจ้างหนึ่งคน หรือจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ 2) มาตรา 90 จ่ายค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ โทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือ  ทั้งจำทั้งปรับ 3) มีความผิดตามพ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 ตามมาตรา 8 ประกอบกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า ซึ่งนายจ้างไม่ดูแลสายไฟฟ้ากรณีชำรุดหรือมีกระแสไฟรั่วไหลก่อให้เกิดอันตรายต่อลูกจ้าง 4) มีความผิดตามมาตรา 34 กรณีลูกจ้างประสบอันตรายแล้วนายจ้างไม่แจ้งต่อพนักงานตรวจแรงงาน โดยมีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 แสนบาท ทั้งนี้ นิติกรสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครราชสีมาได้ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษเป็นคดีอาญาต่อพนักงานสอบสวนกับนายจ้าง นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังพบการจ้างงานเด็กอายุ 16 ปี อีก 1 คน เข้าทำงานโดยไม่แจ้งการจ้างแรงงานเด็กต่อพนักงานตรวจแรงงาน ทั้งนี้ ได้สั่งการให้นิติกรสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครราชสีมาดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษเป็นคดีอาญาต่อพนักงานสอบสวนกับนายจ้างเรียบร้อยแล้วที่ สภ.โพธิ์กลาง อ.เมือง จ.นครราชสีมา พร้อมดำเนินการเรียกร้องส่วนต่างของค่าจ้างที่ลูกจ้างต้องได้รับตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้ลูกจ้างด้วย

สำหรับมาตรการช่วยเหลือเยียวยากรณีลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากทางทำงาน กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมจะจ่ายเงินทดแทนกรณีหยุดพักรักษาตัว ได้รับค่าทดแทน 60 % ของค่าจ้าง ไม่เกิน 1 ปี เป็นเงิน 59,904 บาท กรณีทุพพลภาพ ได้รับค่าทดแทน 60% ของค่าจ้าง เป็นเวลา 15 ปี เป็นเงิน 898,560 บาท และค่ารักษาพยาบาล 2,000,000 บาท ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน ยังมีมาตรการในการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เพื่อให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและความปลอดภัยในการทำงานอย่างเคร่งครัด โดยสามารถสอบถามได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทั่วประเทศ หรือโทร.สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506