สสส. ร่วมมือกับ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และเครือข่าย ดูแลผู้หญิงที่ประสบปัญหาท้องไม่พร้อมให้ได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสมปลอดภัย

เลือกได้ไหมถ้า(ท้อง)ไม่พร้อม

แล้วฉันเลือกอะไรได้ไหม? คงเป็นคำถามที่ค้างคาใจส่วนหนึ่งของผู้หญิงที่ตกอยู่ในสภาวะการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์หรือ “ท้องไม่พร้อม” ซึ่งการเผชิญกับสภาวะเช่นนี้ ส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจของผู้หญิงเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งต่อตัวเอง เด็กในครรภ์ ครอบครัว ไปจนถึงสังคม ซึ่งผู้หญิงที่ประสบปัญหานี้ส่วนใหญ่มักจะเกิดความเครียด และไม่เปิดเผยเรื่องราวกับใคร ตามมาด้วยการแก้ไขด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการทำแท้งเถื่อน ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย การคลอดแล้วนำเด็กไปทิ้ง หรือการไม่เลี้ยงลูกเอง ซึ่งแท้จริงแล้ว ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมยังมีทางออกที่ดีกว่านั้น

สสส. ร่วมมือกับ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านองค์ความรู้และการเสริมความเชื่อมโยงกันของภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งในและนอกเครือข่าย ให้กับทีมงานอาสา (Referral system for Safe Abortion: RSA) ซึ่งเป็นเครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์ในหน่วยบริการทั้งภาครัฐและเอกชน ที่มีจิตอาสาดูแลผู้หญิงที่ประสบปัญหาท้องไม่พร้อมให้ได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสม ด้วยทางเลือกที่ปลอดภัย

RSA คือ เครือข่ายแพทย์ พยาบาล นักสังคมสังเคราะห์ นักจิตวิทยา นักวิชาการสาธารณสุข เภสัชกร ครูและสหวิชาชีพอื่น ๆ จากภาครัฐและเอกชนรวมตัวกันอาสาให้การปรึกษา ส่งต่อ หรือให้บริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยตามแนวทางราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ด้วยการใช้ยา หรือใช้เครื่องดูดโพรงมดลูก ตามข้อบ่งชี้ที่สอดคล้องกับกฎหมายและข้อบังคับของแพทยสภาที่มีมาตรฐานตามหลักวิชาการ ตอบสนองมาตรการลดปัญหาสาธารณสุข ลดอัตราการตายของแม่และเด็กในประเทศไทย เพื่อลดปัญหาการทำแท้งเถื่อนและไม่ปลอดภัย รวมทั้งเชื่อมโยงเครือข่ายการทำงานกับการป้องกันการท้องไม่พร้อม

นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า การทำงานของสสส.นั้นเปรียบเหมือนน้ำมันหล่อลื่นที่ช่วยให้โครงการต่าง ๆ ถูกดำเนินไปได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยเน้นไปที่ประเด็นการสื่อสารเรื่องเพศ และการยุติการตั้งครรภ์ให้เป็นเรื่องที่สามารถสื่อสารกันได้อย่างปกติภายในครอบครัว รวมทั้งในภาคสาธารณะ

สสส. มีจุดยืนในการสานเสริมพลัง กระตุ้น จุดประกาย สร้างศักยภาพคนทำงาน ทำทุกวิธีเพื่อที่จะให้ พ.ร.บ.ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ถูกนำไปปฏิบัติ และใช้ได้ตามเจตจำนง เพื่อให้ผู้หญิงที่ประสบปัญหาท้องไม่พร้อมทุกคนเข้าถึงบริการที่เป็นมิตร นิรนาม จากคนทำงานที่เข้าใจบริบทของคนที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังส่งเสริมการศึกษาเพศวิถีรอบด้าน พร้อมกับส่งเสริมให้ผู้ปกครองมีทักษะการสื่อสารเชิงบวกกับบุตรหลาน โดยเฉพาะประเด็นการสื่อสารในด้านสุขภาวะทางเพศอีกด้วย

ประเทศไทยได้กำหนดให้ผู้หญิง สามารถยุติการตั้งครรภ์โดยแพทย์อย่างถูกต้องตามกฎหมายได้ ในกรณีดังต่อไปนี้

1.การตั้งครรภ์นั้นส่งผลเสียต่อสุขภาพทางกายของผู้หญิง

2.การตั้งครรภ์นั้นส่งผลเสียต่อสุขภาพทางใจของผู้หญิง

3.ทารกในครรภ์มีความพิการ

4.การตั้งครรภ์ที่เกิดจากการถูกข่มขืนกระทำชำเรา

5.การตั้งครรภ์ในเด็กหญิงที่อายุไม่เกิน 15 ปี (แม้ว่าเด็กหญิงจะไม่ได้ถูกล่อลวงหรือข่มขืนก็ตาม)

6.การตั้งครรภ์มาจากเหตุล่อลวง บังคับหรือข่มขู่ เพื่อทำอนาจาร หรือสนองความใคร่

การยุติการตั้งครรภ์ในประเทศไทยส่วนใหญ่ หากตีความตามเกณฑ์ข้างต้น ส่วนใหญ่เป็นการยุติการตั้งครรภ์ที่เข้าข่ายตามข้อกฎหมายทั้งสิ้น เพราะผู้หญิงมักประสบปัญหาที่สอดคล้องกับข้อกฎหมายข้อใดข้อหนึ่งอยู่แล้ว โดยเฉพาะความทุกข์ทางใจจากการตั้งครรภ์ไม่พร้อมด้วยเหตุผลและปัญหาต่าง ๆ ที่ผู้หญิงต้องเผชิญ

ผู้หญิงที่ประสบปัญหาท้องไม่พร้อม มีสิทธิที่จะเข้าถึงการบริการดูแลทั้งทางด้านสุขภาพกาย และสุขภาพจิตใจ ซึ่งทางเลือกมี 2 แนวทางหลัก คือ การตั้งครรภ์ต่อ และการยุติการตั้งครรภ์

การตั้งครรภ์ต่อ ให้คำนึงถึงผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นทั้งทางอารมณ์และการแสดงออก เช่น ความวิตกกังวล อับอาย เสียใจ ผลกระทบทางสังคม เช่น ไม่มีที่อยู่ ไม่มีคนดูแล ความสัมพันธ์กับพ่อแม่ คู่ครอง รวมทั้งผลกระทบต่ออนาคต เช่น โอกาสในการศึกษาต่อ หรือการถูกเลิกจ้างงาน เป็นต้น หากตัดสินใจเลือกแนวทางนี้ ก็ต้องมีแผนแนวทางชีวิตที่ชัดเจนทั้งในระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอดที่เหมาะสม

การยุติการตั้งครรภ์ ให้คำนึงถึงเกณฑ์การยุติการตั้งครรภ์ตามกฎหมาย อายุครรภ์ และความปลอดภัย โดยเลือกสถานบริการที่เชื่อถือได้ และใช้วิธีการที่ปลอดภัย โดยการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยนั้น ควรทำในอายุครรภ์ที่น้อยกว่า 12 สัปดาห์ หากอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ จะต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ส่วนผู้ที่มีอายุครรภ์ที่มากกว่า 22 – 24 สัปดาห์ ไม่ควรยุติการตั้งครรภ์  เนื่องจากอาจเกิดอันตรายต่อสุขภาพรุนแรงถึงชีวิตได้

ผู้ที่ประสบปัญหาท้องไม่พร้อม สามารถเข้าถึงบริการที่ปลอดภัยในสถานบริการเครือข่ายอาสา RSA โดยผ่านช่องทางดังต่อไปนี้ สายปรึกษาท้องไม่พร้อม 1663 เพื่อขอรับคำปรึกษาได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00 – 21.00 น. ห้องแชทของเว็บไซต์เลิฟแคร์สเตชั่นทุกวัน ตั้งแต่เวลา 16.00 – 00.00 น. หรือติดต่อผ่าน facebook :1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม และ Lovecare Station ได้ตลอด 24 ชม.

………………………………………….

เรื่องโดย ปัญจวรา บุญสร้างสม Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลบางส่วนจาก  งานเสวนาชีวิตและสิทธิของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ความสำเร็จและพันธกิจที่ต้องสานต่อ เนื่องในวันยุติการตั้งครรภ์สากล และ www.rsathai.org