กมอ. มีมติยกเลิกการกำหนดระยะเวลาการสำเร็จการศึกษาของนักศึกษาทุกปริญญา “เรียนไม่จบไม่ถูกรีไทร์”

14 ตุลาคม 2563 : ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์วิจิตร ศรีสอ้าน อาคารสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ถนนศรีอยุธยา มีการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา (กมอ.) ซึ่งมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.กิตติชัย วัฒนานิกร เป็นประธาน โดยมีวาระสำคัญ คือ การเสนอให้ยกเลิกการกำหนดระยะเวลาการสำเร็จการศึกษาของนักศึกษาในแต่ละระดับปริญญา กรณีกำหนดให้สำเร็จการศึกษาได้ไม่เกินกี่ปีการศึกษา

ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงฯ ในฐานะเลขานุการ กมอ. เปิดเผยว่า กมอ. ได้มีมติให้ยกเลิกการกำหนดระยะเวลาการสำเร็จการศึกษาของนักศึกษาในแต่ละระดับปริญญา กรณีกำหนดให้สำเร็จการศึกษาได้ไม่เกินกี่ปีการศึกษา ทั้งนี้ ให้สภาสถาบันกำกับดูแลให้บัณฑิตมีผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ทันสมัยและสอดคล้องตามมาตรฐานทางวิชาการและวิชาชีพที่เป็นปัจจุบันขณะสำเร็จการศึกษา อย่างไรก็ตามเนื่องจากการยกเลิกดังกล่าวเป็นการยกเลิกข้อกำหนดในเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร ดังนั้น ให้หารือคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายว่า กมอ. สามารถพิจารณาโดยใช้อำนาจตามข้อ 17 แห่งเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี และ ข้อ 18 แห่งเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาได้หรือไม่ หรือจะมีแนวทางอื่นใดในการดำเนินการดังกล่าว

เลขาฯ กมอ. กล่าวต่อว่า การยกเลิกดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบททางการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งในการเรียนรู้องค์ความรู้และทักษะใหม่ๆ ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยการสำเร็จการศึกษาของนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาทุกระดับชั้น ตั้งแต่ปริญญาตรี ซึ่งเดิมหากเรียนไม่จบภายในกำหนดคือ 8 ปี จะถูกรีไทร์หรือถูกให้ออกจากมหาวิทยาลัย ให้ยกเลิกการรีไทร์ เช่นเดียวกับระดับปริญญาโทที่ให้กำหนดระยะเวลาเรียนไม่เกิน 5 ปี และปริญญาเอกที่ให้กำหนดระยะเวลาเรียนไม่เกิน 6 ปี โดยให้สามารถเรียนต่อได้เลย หากไม่จบการศึกษาในระยะเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ กมอ. จะให้อำนาจสภามหาวิทยาลัยของแต่ละมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชน สามารถกำหนดเกณฑ์ระยะเวลาได้เองให้สอดคล้องกับนโยบายและแนวทางของแต่ละมหาวิทยาลัย

“หลังยกเลิกการกำหนดเกณฑ์แล้ว นักศึกษา สามารถเรียนไปด้วยและทำงานไปด้วย โดยไม่ต้องกังวลกับการถูกรีไทร์ เพราะการเรียนไปด้วยและทำงานไปด้วยจะช่วยในเรื่องการพัฒนาทักษะ ความชำนาญ ประสบการณ์การทำงาน” ดร.ศุภชัย กล่าวในตอนท้าย

………………………………………………………