พาณิชย์เปิดตัวดัชนีใหม่แพ็คคู่ สำหรับผู้ใช้แรงงานและราคาปัจจัยสี่

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า สนค. ได้จัดทำดัชนีราคาขึ้นใหม่ 2 ชุด เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนให้มากขึ้น ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคกลุ่มแรงงาน (CPI Worker) และดัชนีราคาค่าครองชีพพื้นฐาน (CPI-Basic ) หรือดัชนีราคาปัจจัยสี่ โดยดัชนีแรงงานจะนำไปใช้ประกอบการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำระดับประเทศและจังหวัด ส่วนดัชนีปัจจัยสี่จะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถติดตามความเคลื่อนไหวราคาสินค้ากลุ่มที่สำคัญในการดำรงชีวิตประจำวันได้ง่ายขึ้น

นางสาวพิมพ์ชนก ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคกลุ่มแรงงาน หรือ CPO-W เป็นดัชนีเศรษฐกิจการค้าใหม่ ที่ สนค.จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นตัวชี้วัดทางเลือกในการสะท้อนภาวะค่าครองชีพของผู้บริโภคกลุ่มแรงงานโดยเฉพาะ เป็นการบูรณาการกระบวนการทำงานระหว่าง สนค. กับกับกระทรวงแรงงาน ในเรื่องการจัดเก็บข้อมูลค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคกลุ่มแรงงาน โดยผลการจัดทำน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะพบว่าผู้บริโภคกลุ่มแรงงานมีพฤติกรรมการบริโภคที่แตกต่างจากผู้บริโภคกลุ่มทั่วไป โดยจะใช้เงินในการบริโภคหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะกลุ่มอาหารสำเร็จรูป และหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า มากกว่าหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร

กล่าวคือค่าใช้จ่ายในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ มีสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายทั้งหมด คิดเป็นร้อยละ 42.06 ในขณะที่ ผู้บริโภคกลุ่มทั่วไปมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายหมวดนี้ที่ร้อยละ 36.70 สำหรับหมวดที่ผู้บริโภคกลุ่มแรงงานมีการใช้จ่ายรองลงมาได้แก่ หมวดเคหสถานและหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร คิดเป็นร้อยละ 20.41 และ 17.39 ตามลำดับ และหมวดอื่นๆ อีก 4 หมวด (หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษา และศาสนา และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์) มีค่าใช้จ่ายเพียงร้อยละ 20.14 สำหรับผลการจัดทำดัชนีราคาผู้บริโภคกลุ่มแรงงานของประเทศ พบว่า เฉลี่ย 6 เดือน (ม.ค. – มิ.ย.) ปี 2563 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (AoA) ลดลงร้อยละ 0.81 ซึ่งสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคชุดทั่วไปของประเทศที่ลดลงร้อยละ 1.13 เมื่อจำแนกเป็นรายภาค พบว่า รูปแบบความเคลื่อนไหวของดัชนีราคาผู้บริโภคกลุ่มแรงงานเคลื่อนไหวเป็นไปในทิศทางเดียวกันในทุกภูมิภาค

ผอ.สนค. ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การจัดทำดัชนีราคาผู้บริโภคกลุ่มแรงงานในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่จัดทำเป็นระดับประเทศและระดับภาคเท่านั้น ยังจัดทำในระดับจังหวัดทั้ง 73 จังหวัด และกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่ง สนค. มั่นใจว่าตัวชี้วัดที่จัดทำขึ้นนี้ จะเป็นเครื่องชี้วัดที่มีประสิทธิภาพในการนำไปใช้ประกอบการวิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน ทั้งในระดับภาพรวมและระดับภูมิภาค เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในทุกระดับได้เป็นอย่างดี รวมทั้งอาจใช้เป็นเครื่องชี้วัดประกอบการพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นรายจังหวัดได้

สำหรับดัชนีอีกชุดหนึ่งที่เปิดตัวพร้อมกัน คือ ดัชนีราคาค่าครองชีพพื้นฐาน หรือดัชนีราคาปัจจัยสี่ เป็นดัชนีราคาที่คัดเลือกรายการสินค้าและบริการพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ (Basic Needs) ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่มีการอุปโภคบริโภคเป็นประจำ โดยองค์ประกอบของดัชนีแบ่งเป็น 4 หมวด ได้แก่ หมวดอาหารและเครื่องดื่ม หมวดเคหสถาน หมวดยา ของใช้ และบริการส่วนบุคคล และหมวดการขนส่งและการสื่อสาร ประกอบด้วยรายการสินค้าและบริการ จำนวน 111 รายการ ซึ่งมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายประมาณร้อยละ 66 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดในตะกร้าเงินเฟ้อปัจจุบัน

ผอ.สนค. กล่าวต่อว่า ดัชนีราคาปัจจัยสี่กับดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปหรือเงินเฟ้อ มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกัน แต่ดัชนีราคาปัจจัยสี่ส่วนใหญ่จะมีขนาดการเปลี่ยนแปลงมากกว่า (Higher Volatile) ทั้งนี้เพราะสินค้าสำคัญในตะกร้าปัจจัยสี่ เช่น น้ำมัน อาหาร จะมีการขึ้นลงที่แรงกว่าราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ โดยล่าสุดดัชนีราคาปัจจัยสี่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 หดตัวร้อยละ 1.27 (YoY) ในขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปหดตัวเพียง ร้อยละ 0.73 (YoY) เมื่อจำแนกรายภาค พบว่ามีการลดลงในทุกภาค โดยภาคใต้ ลดลงมากที่สุด ร้อยละ 2.25 รองลงมาได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 1.64 ภาคกลาง ร้อยละ 1.32 ภาคเหนือ ร้อยละ 1.07 และกรุงเทพฯ และปริมณฑล ลดลงน้อยที่สุด ร้อยละ 0.97 โดยมีปัจจัยหลักที่ทำให้ลดลงในทุกภาค จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า ค่าประปา ผลไม้ ในขณะที่ปัจจัยที่ทำให้สูงขึ้น ได้แก่ เนื้อสัตว์และไข่ และเครื่องประกอบอาหาร เป็นสำคัญ

นางสาวพิมพ์ชนกฯ กล่าวถึงการนำไปใช้ประโยชน์ของดัชนีทั้ง 2 ชุดว่า วัตถุประสงค์หลักคือ เพื่อช่วยให้นโยบายของรัฐในด้านการช่วยเหลือหรือการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ออกมาโดยตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ให้มากที่สุด (targeted policy) โดยเฉพาะในช่วงที่กำลังต้องฟื้นตัวจากโควิด-19 เช่น ผู้บริโภคกลุ่มแรงงานมีค่าใช้จ่ายหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในสัดส่วนที่สูง โดยเฉพาะกลุ่มอาหารสำเร็จรูป ดังนั้นหากมีมาตรการออกมาช่วยผู้ใช้แรงงาน ก็อาจจะมุ่งไปที่การลดราคาสินค้าอาหารให้แรงงานหรือเพิ่มเงินให้ไปจับจ่ายซื้อสินค้ากลุ่มนี้ มากกว่าการช่วยลดค่าใช้จ่ายกลุ่มค่าพาหนะที่ผู้ใช้แรงงานใช้เงินจ่ายน้อยกว่า เป็นต้น นอกจากนี้ ดัชนีชุดผู้ใช้แรงงานจะส่งให้กระทรวงแรงงานใช้เป็นข้อมูลในการประกอบการพิจารณากำหนดค่าจ้างขั้นต่ำระดับประเทศและระดับจังหวัดต่อไป

สำหรับดัชนีปัจจัยสี่จะช่วยให้รัฐบาลและประชาชนที่สนใจ สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของราคาสินค้ากลุ่มที่สำคัญกับความเป็นอยู่ได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นราคาค่าพลังงาน ค่าอาหาร ค่ายา และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย ซึ่งหากมีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่ราคาขึ้นสูงไปก็จะมีการเตือนการให้หน่วยงานของรัฐเข้าไปดูแลใกล้ชิด รวมทั้งอาจหามาตรการในการช่วยลดราคาหรือสนับสนุนการใช้จ่ายกลุ่มสินค้าและบริการดังกล่าวได้

ทั้งนี้ ดัชนีทั้งสองชุดจะมีการเผยแพร่เป็นรายไตรมาส โดยข้อมูลนำมาจากการสำรวจราคาทั่วประเทศจาก 44,804 แหล่งในแต่ละเดือน ที่ สนค. ดำเนินการอยู่เพื่อจัดทำดัชนีราคาผู้บริโภคหรือเงินเฟ้ออยู่แล้ว โดยได้คัดเลือกรายการและตัวอย่างมาคำนวณและปรับน้ำหนักเพื่อให้ถูกต้องตามหลักวิชาการทำดัชนี เป็นการใช้ประโยชน์จาก Big Data ด้านราคาที่มีอยู่แล้วเพื่อให้การวิเคราะห์ข้อมูลเป็นประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไปเพิ่มขึ้นกว่าปัจจุบัน

…………………………………………………………..

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า
กระทรวงพาณิชย์
12 ตุลาคม 2563