ชป.สั่งระดมเครื่องจักร เครื่องมือ พร้อมช่วยเหลือชาวเพชรบุรีทันทีหากเกิดวิกฤติ

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่กำลังประสบปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ จากอิทธิพลของพายุดีเปรสชั่นพาดผ่านเข้าสู่ประเทศไทย ได้สั่งการให้กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปบรรเทาความเดือดร้อนและดูแลประชาชนให้ถึงที่สุด

นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ เพื่อประกาศแจ้งเตือนให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่งแม่น้ำเพชรบุรี ให้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เป็นการป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชน

สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี อ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 315 ล้าน ลบ.ม.(44 % ของความจุอ่างฯ) ปิดการระบายน้ำ ส่วนอ่างเก็บน้ำแม่ประจันต์มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 38 ล้าน ลบ.ม. (90 % ของความจุอ่างฯ) ระบายน้ำ 20 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เนื่องจากมีปริมาณน้ำมาก จำเป็นต้องระบายน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม ส่วนอ่างเก็บน้ำห้วยผากมีปริมาณน้ำ 15 ล้าน ลบ.ม. (56 % ของความจุอ่างฯ) ปิดการระบาย ทั้งนี้ จากการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำแม่ประจันต์ ประกอบกับปริมาณน้ำที่เกิดจากฝนตกด้านท้ายอ่างฯ จะไหลไปรวมกับแม่น้ำเพชรบุรีที่มาจากเขื่อนแก่งกระจาน และห้วยผาก ก่อนเข้าสู่เขื่อนเพชร ซึ่งจะเป็นตัวควบคุมการระบายน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีที่จะไหลลงไปสู่พื้นที่ตัวเมืองจังหวัดเพชรบุรีต่อไป

โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี ได้บริหารจัดการน้ำ โดยการผันน้ำบริเวณด้านเหนือเขื่อนเพชร เข้าสู่คลองส่งน้ำสายใหญ่ 3 ระบายน้ำไปยังคลองระบายน้ำ D.9 พร้อมกับเพิ่มการระบายน้ำเข้าคลองส่งน้ำอีก 3 สาย ก่อนระบายออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด ส่วนที่เขื่อนเพชรปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลผ่าน 198 ลบ.ม./วินาที มีแนวโน้มลดลง ปัจจุบันระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี ที่สถานี B.15 ในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี ต่ำกว่าตลิ่ง 1.26 เมตร (ตลิ่งสูง 5.40 เมตร)

ในส่วนของการเตรียมความพร้อมการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ สำนักงานชลประทานที่ 14 ได้ทำการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 17 เครื่อง มีแผนติดตั้งเพิ่มอีก 15 เครื่อง ทำการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำแล้ว 2 เครื่อง มีแผนติดตั้งเพิ่มอีก 58 เครื่อง นอกจากนียังได้ทำการสนับสนุนรถแบคโฮบูมสั้น 2 คัน แลรถแบคโฮบูมยาวอีก 3 คัน

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ทำการตรวจสอบอาคารชลประทานต่างๆให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ รวมไปถึงการกำจัดวัชพืชไม่ให้กีดขวางทางน้ำ ควบคู่ไปกับการนำน้ำท่าเข้าไปเก็บกักไว้ในพื้นที่แก้มลิง หรือแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ฤดูแล้งหน้าให้ได้มากที่สุดด้วย หากประชาชนหรือหน่วยงานใดต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ชลประทานบริการประชาชนได้ตลอดเวลา

…………………….

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

11 ตุลาคม 2563