สมุนไพรน่ารู้ อภัยภูเบศร : เช็คลิสต์ เกาต์ กับสมุนไพรทางเลือก

เกาต์ เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังที่ถ่ายทอดได้ทางกรรมพันธุ์ เป็นความผิดปกติของร่างกายเนื่องจากมีการสร้างและสะสมกรดยูริกมากเกิน พบประมาณ 2-4 คนในประชากร 1,000 คน และมักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 9-10 เท่า รวมถึงฮอร์โมนก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคเก๊าต์ มักพบในหญิงหมดประจำเดือนจะเป็นมากกว่า ปกติเพราะฮอร์โมนเอสโตรเจนในผู้หญิงทำให้ไตขับกรดยูริกได้ดี ผู้ป่วยโรคเกาต์จึงมักจะเป็นชายอายุ 35 ปีขึ้นไป สำหรับหญิงมักมีอายุ 50-60 ปีขึ้นไป

ทางการแพทย์แผนไทย หรือพื้นบ้าน มองว่า การเกิดอาการของเก๊าท์ เป็นจากเลือดลมมีการอั้นตามข้อ เกิดจากความผิดปกติของลมและเลือดที่เข้าไปในข้อต่อของกระดูก รวมทั้งทำให้ธาตุต่างๆ ในร่างกายเสียหาย ดังนั้นการรักษาจึงต้องทำให้ลมเดินสะดวก ทำให้เลือดไม่ข้น ลมคือ การเคลื่อนไหวทุกอย่างทั้งอุจจาระ ปัสสาวะ การไหลเวียน เลือดต้องไม่ข้นคือ ต้องต้องดื่มน้ำมากๆ กินของขมเพื่อลดความร้อน ไม่รับประทานสิ่งที่มีฤทธิ์ร้อน เช่น เหล้า ของหมักดองทุกชนิด หน่อทุกชนิด (หน่อพืชทุกชนิดมีพลังชีวิตและมีความร้อนในตัวเอง) การสัมผัสกับความร้อน และการออกกำลังมากเกินไป พ่อหมอจะแนะนำว่า ห้ามท้องผูก ปัสสาวะต้องอย่าให้ติดขัด ควรต้มหรือชงหญ้าหนวดแมว รากเตย รากหญ้าคา เหง้าสับปะรด ดื่มเป็นประจำ ห้ามเป็นร้อนใน กินยาเย็น เช่น ว่านหางจระเข้ ผักปลาบ หญ้าปักกิ่ง ดอกอัญชัน ดื่มน้ำเยอะๆ ช่วงตื่นนอนตอนเช้า และให้กินยารักษาเกาต์เป็นประจำ

อาการและการสังเกต

ระยะแรก จะมีข้ออักเสบ มักเป็นไม่นาน 2-5 วัน บางรายมีไข้  ในผู้สูงอายุบางครั้งอาจมีข้ออักเสบหลายข้อพร้อมกันโดยเฉพาะเป็นที่ข้อนิ้วมือ 2 ข้าง ตั้งแต่ระยะแรกของโรคซึ่งอาจมีประวัติได้รับยาขับปัสสาวะร่วมด้วย  หลังจากข้ออักเสบหายแล้วผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเกิดข้ออักเสบซ้ำภายใน 6 เดือนถึง 2 ปี ถ้าไม่ได้รับการรักษาหรือรักษาไม่ถูกต้อง จำนวนข้อที่อักเสบจะเพิ่มขึ้น เริ่มพบที่ข้อมือ ข้อนิ้วมือ และข้อศอก ต่อมาจะมีอาการอักเสบถี่ขึ้นและนานขึ้น กระทั่งเข้าสู่ภาวะอักเสบเรื้อรัง ระยะต่อมา เรื้อรังอาจพบตุ่มโทฟัส (tophus) ใต้ผิวหนัง ตามเนื้อเยื่อต่างๆรอบข้อ ในผู้สูงอายุมักมีแนวโน้มเกิดตุ่มโทฟัสเร็วและมักพบตามนิ้วมือแทนที่จะพบบริเวณโคนนิ้วหัวแม่เท้า ข้อเท้า ข้อศอก หรือข้อเข่าก่อน

ปัจจัยที่กระตุ้น

  • การได้รับยาบางชนิด เช่น ยาลดกรดยูริก ยาขับปัสสาวะ หรือยาแอสไพริน
  • เลี่ยงการ การบีบนวดข้อ ในช่วงที่มีการอักเสบ
  • งดการดื่มแอลกอฮอล์ เบียร์
  • งดอาหารแสลง ได้แก่ ปลาไม่มีเกล็ด อาหารทะเล ของมันๆทอดๆ อาหารที่มีพิวรีนสูง เนื้อสัตว์ปีก เช่น เป็ด ไก่เครื่องในสัตว์ต่างๆ หัวใจ ตับอ่อน ไต มันสมองปลา เช่น ปลาดุก ปลาอินทรีย์ ปลาไส้ตัน ปลาซาร์ดีน ไข่ปลา กุ้ง หอย กะปิ ยอดผัก ถั่วต่างๆ เช่น ถั่วแดง ถั่วแระ ถัวเขียว ถั่วเหลือง
  • โรคเก๊าท์มักสัมพันธ์กับการมีโรคร่วมอื่น ได้แก่ ภาวะไขมันสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และโรคอ้วน ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องรับการตรวจวินิจฉัยและดูแลรักษาโรคร่วมด้วยเสมอ และควรคุมน้ำหนักเพื่อลดการกระทบกับข้อ

อาหารที่ควรกิน

  • สารพิวรีนต่ำได้ไม่จำกัด ได้แก่ นม ไข่ ธัญพืช ต่าง ๆ ผักสดต่าง ๆ ผลไม้
  • อาหารที่มีสารพิวรีนปานกลาง กินได้เล็กน้อย (หากกินรวมกันต้องไม่เกิน 100 กรัมต่อวัน) ได้แก่ เนื้อสัตว์ เช่น เนื้อหมู เนื้อวัวที่ไม่ติดมัน ปลากระพงแดง ปลาหมึก ปู ถั่วลิสง ข้าวโอ๊ต พืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วลันเตา สะตอ ดอกกะหล่ำ ผักโขม

ตัวอย่างตำรับยาพื้นบ้าน

  1. ใบสดมะละกอ ล้างน้ำให้สะอาด นวดเอาแต่น้ำดื่มประมาณ 1 ถ้วยน้ำชา ดื่มวันละ 3 ครั้ง เช้า กลางวัน เย็น หรือนำใบมะละกอหั่นฝอยตากแห้ง นำใบมะละกอที่แห้งแล้ว 1 หยิบมือ ชงดื่มเหมือนน้ำชา
  2. ว่านหางจระเข้ ยำกิน นำว่านหางจระเข้มาล้างให้สะอาด ตัดส่วนที่เป็นหนามๆ ด้านข้างทิ้ง แล้วสับว่านหางจระเข้ให้ละเอียด ผสมกับน้ำผึ้งกิน ว่านหางจระเข้ 2 ช้อนโต๊ะ ใส่น้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะ จะช่วยในการระบาย
  3. หัวรากสามสิบ นำมาต้มกิน หรือตากแห้งตำผงชงกิน หรือแช่น้ำผึ่งกิน หรือตากแห้งหั่นบางๆคลุกกับน้ำตาลบีบก้อนผสมกับเทียนทั้งห้าอย่างละนิดหน่อยกิน
  4. หญ้าแผ่นดินเย็น ผักปลาบ หรือหญ้าปักกิ่ง เอาทั้งต้นมานึ่งนวดตากแห้งทำวิธีเดียวกับชา พอแห้งแล้วนำมาชงกินเป็นประจำ
  5. หญ้าหนวดแมว ตากแห้ง ต้มหรือชงกินเป็นประจำ เช่นเดียวกับชา
  6. ต้นกระดูกไก่ดำสดตำให้ละเอียด 1 ส่วน ใส่เหล้าขาว 1 ส่วน ทาบริเวณที่ปวด เมื่อมีอาการ

ติดตามสาระสุขภาพกับแพทย์แผนไทยได้ที่

Facebook : สถาบันการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร

คลินิกออนไลน์ : https://lin.ee/47PRVjiFz

ข้อมูลจาก

  1. เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
  2. บันทึกของแผ่นดิน 8