อว. ชูศาสตร์พระราชา พัฒนา “เลย” สู่เมืองแห่งอนาคต สร้างระบบโลจิสติกส์และการค้าชายแดนเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน เผย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี วาง 3 แนวทางพัฒนาประเทศหลังโควิด

เมื่อวันที่ 9 ต.ค. ที่ มหาวิทยาลัยราชภัฎเลย จังหวัดเลย ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ลงพื้นที่มอบนโยบายและหารือการขับเคลื่อนจังหวัดเลยร่วมกับส่วนราชการ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ผู้บริหารและคณาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ในโครงการจ้างงานประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด – 19 และโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตําบล แบบบูรณาการ หรือโครงการ 1 ตําบล 1 มหาวิทยาลัย โดย ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า ขณะนี้ อว. ดำเนินโครงการ “อว.ส่วนหน้า” เพื่อนำความรู้ วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของ อว. ไปช่วยพัฒนาจังหวัดแบบบูรณาการ โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย จะเป็น อว.ส่วนหน้าที่จังหวัดเลยที่สำคัญ จังหวัดเลยเป็นพื้นที่ที่ตนได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ดูแล นอกจากนี้ยังมีโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการไปเมื่อวันที่ 6 ต.ค. ที่ผ่านมา จะเชื่อมโยงกับ อว.ส่วนหน้าด้วย การดำเนินการของ อว. จะทำให้จังหวัดเลยมีความเข้มแข็งหลายด้าน ซึ่ง อว. จะช่วยเสริมได้ต่อยอดได้ทันที เช่น การท่องเที่ยว เมืองดอกไม้ เกษตรเมืองหนาว เป็นต้น

รมว.อว. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ อว. โดย มรภ.เลย จะทำงานร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 11 แห่ง โดยมีหน่วยงานร่วมบูรณาการ เช่นบริษัทประชารัฐรักสามัคคีเลย จำกัด บริษัทเบทาโกร จำกัด มหาชน หอการค้าจังหวัดเลย สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเลย สมาคมโลจิสติกส์ต่างๆ จะขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่นแบบบูรณาการ เช่น การจัดทำพิพิธภัณฑ์ศิลปวัฒนธรรม (Museum of Loei Knowledge Center) ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น การยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน การวิจัยและนวัตกรรมด้านเกษตร การแปรรูปเกษตร เมืองสมุนไพร การเกษตร อาหารปลอดภัย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในจังหวัดเลย เรื่องของอาหารปลอดภัย โลจิสติกส์และการค้าชายแดนเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีเป้าหมายสำคัญในการเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวในพื้นที่ รวมทั้งการหาแนวทางร่วมบูรณาการของภาคเอกชน รัฐ และสถาบันการศึกษาให้บรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์จังหวัดเลย เช่น การพัฒนาเมืองเลยแห่งอนาคต SMART CITY อาทิ ระบบโลจิสติกส์และการขนส่งสาธารณะ การเป็นเมืองสมุนไพร ศูนย์ผ้าฝ้ายเลย การแก้ปัญหาที่ดิน ด้านขยะและสิ่งแวดล้อม และผังเมือง โครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกขนที่จะลงทุนร่วมภาครัฐและเอกชน โดยให้มหาวิทยาลัยในท้องถิ่นเป็นหน่วยงานในการศึกษาวิจัยเพื่อรองรับการพัฒนาเมืองแห่งอนาคต

“นายกรัฐมนตรี มีแนวทางในการพัฒนาประเทศหลังวิกฤตโควิด-19 ซึ่งไทยสามารถจัดการภาวะวิกฤตได้เป็นอันดับต้นของโลก มีหลัก 3 ประการ คือ 1.ประเทศไทยมีคนเก่งมากมาย ต้องดำเนินการพัฒนาให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมให้มากที่สุด 2.ให้มีการพัฒนาเชิงรุก คิดถึงโอกาส มากกว่าปัญหา และ 3.การดำเนินงานของราชการต้องให้ประชาชนเป็นผู้ประเมินผลงาน“ รมว.อว.กล่าว