บอร์ดเด็กปฐมวัยรับทราบร่างแผนพัฒนาเด็กปฐมวัยฉบับใหม่ คัดกรองเด็กพิเศษ-ด้อยโอกาสให้ได้ 99 เปอร์เซ็นต์

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยรับทราบร่างแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2563-2570 หลังปรับปรุงยุทธศาสตร์ใหม่ เน้นเด็กปฐมวัยได้รับการดูแลพัฒนารอบด้าน ได้รับการคัดกรองภาวะความต้องการพิเศษหรือด้อยโอกาสไม่น้อยกว่าร้อยละ 99 เมื่อร่างฯ ผ่านมติ ครม. 4 กระทรวงหลักบูรณาการการทำงานตามข้อเสนอผู้ตรวจการแผ่นดิน

วันที่ 9 ตุลาคม 2563 ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ครั้งที่ 3/2563 ว่า ที่ประชุมได้รับทราบร่างแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2563-2570 ซึ่งเป็นการปรับปรุงร่างฯ ฉบับเดิม เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 อาทิ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การจัดและการให้บริการแก่เด็กปฐมวัย มีการปรับปรุงให้มีการพัฒนาระบบการดูแลและให้ความรู้แก่ทั้งพ่อและแม่ของทารกในครรภ์อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ เด็กปฐมวัยได้รับการสำรวจและคัดกรองค้นหาภาวะความต้องการพิเศษ/ด้อยโอกาส ไม่น้อยกว่าร้อยละ 99 หากพบเด็กกลุ่มนี้จะต้องได้รับการส่งต่อ เพื่อวินิจฉัย ดูแล พัฒนาไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 และได้รับบริการด้านต่างๆ อย่างเท่าเทียม มีคุณภาพไม่น้อยกว่าร้อยละ 85

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัวในการอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย  กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอเปลี่ยนคำว่าสถานบริการเป็นหน่วยบริการ โดยให้หน่วยบริการจัดโครงการ/กิจกรรมให้ความรู้และเตรียมความพร้อมในการดูแล พัฒนา และคุ้มครองสิทธิเด็กแก่พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครอบครัว ส่วนยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการที่พัฒนาเด็กปฐมวัย ได้ปรับปรุงให้บุคลากรและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดูแล พัฒนา และจัดการเรียนรู้เด็กปฐมวัย ได้รับการพัฒนาศักยภาพและสนับสนุนให้ดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น

ดร.สาธิต กล่าวต่อว่า สำหรับข้อเสนอ 5 ข้อของผู้ตรวจการแผ่นดินที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรีกรณีการจัดการศึกษาเด็กเล็ก ได้เสนอให้กำหนดแผนปฏิบัติการทำงานร่วมกันระหว่าง 4 กระทรวงหลักที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ มหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข  และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ควรให้มีการดำเนินการแบบบูรณาการในหน่วยงานเดียวกัน (One Stop Service) ซึ่งจะสามารถทำได้เมื่อร่างแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2563-2570 ผ่านความเห็นชอบคณะรัฐมนตรีแล้ว เนื่องจากกระทรวงหลักที่เกี่ยวข้อง โดยกระทรวงสาธารณสุข จะไปจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อให้การดำเนินงานสอดคล้องและเป็นไปตามแผน โดยมีสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาในฐานะเลขานุการ เป็นหน่วยงานในการประสานงานและติดตามการดำเนินงานเป็นระยะ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการพัฒนาเด็กพิเศษและด้อยโอกาส โดยเพิ่มผู้แทนจากกรมสุขภาพจิต ชมรมกุมารแพทย์พัฒนาการ และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี จากเดิมที่มีเพียงผู้แทนกรมอนามัย

……………………………………..