“นายพุทธิพงษ์” ร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ครั้งที่ 5 ผ่านระบบการประชุมทางไกล

การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ครั้งที่ 5 (The 5th ASEAN Ministerial Conference on Cybersecurity) ผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2563 ณ ห้องประชุม Brain Storming สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

วันที่ 7 ตุลาคม 2563 นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทำหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ครั้งที่ 5 (The 5th ASEAN Ministerial Conference on Cybersecurity : AMCC) และการประชุม AMCC วาระพิเศษ ร่วมกับประเทศคู่เจรจาของอาเซียน โดยมี นายเอส อิสวารัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสื่อสารและสารสนเทศของสาธารณรัฐสิงคโปร์ ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม และมีรัฐมนตรี/ผู้แทนระดับสูงจากหน่วยงานที่ดูแลความมั่นคงปลอดภัยทางสารสนเทศจากอาเซียน 10 ประเทศ และเลขาธิการอาเซียนเข้าร่วม รวมทั้งประเทศคู่เจรจาของอาเซียน ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา อินเดีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ สหภาพยุโรป องค์การสหประชาชาติ (UNGGE, UN OEWG)

ซึ่งการประชุมหารือทั้งสองดังกล่าวเป็นการต่อยอดผลการศึกษาจากการประชุม AMCC ครั้งที่ 4 เมื่อปี 2562 โดยที่ประชุมได้ร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในภูมิภาคให้มีความสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ และเน้นย้ำถึงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของโครงสร้างพื้นฐานด้านสารสนเทศซึ่งเป็นฐานรากสำคัญต่อการรักษาความมั่นคงทางไซเบอร์ รวมทั้ง การยกระดับความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคลในอาเซียน

โอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ ได้มีบทบาทสำคัญในระหว่างการประชุมฯ ดังนี้ การร่วมนำเสนอและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในการดำเนินงานด้านการปกป้องโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ (CII Protection) ของไทย โดยเน้นย้ำถึงการศึกษาเรื่อง ASEAN CII Protection Framework ที่จะสามารถสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งและความเชื่อมั่นของ CII ในภูมิภาคได้ โดยเฉพาะการตอบสนองต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคในปัจจุบัน นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ ยังได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงอย่างสั้นเพื่อผลักดันให้เกิดการส่งเสริมความร่วมมือระดับภูมิภาคด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในความปกติใหม่ โดยเฉพาะการพัฒนาทรัพยากรบุคคลผ่านการต่อยอดและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ของภูมิภาคอาเซียน เช่น ศูนย์ ASEAN – Japan Cybersecurity Capacity Building Centre (AJCCBC) กับศูนย์ ASEAN – Singapore Cybersecurity Centre of Excellence (ASCCE) เพื่อรองรับความต้องการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในภูมิภาค

การประชุมดังกล่าวได้รับความสนใจและประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง โดยที่ประชุมฯ ได้ให้ความสำคัญในหลัก “4P” ในการดำเนินความร่วมมือด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ดังนี้

(1) “Principle” ความมุ่งมั่นในการดำเนินการตามบรรทัดฐานของรัฐบนโลกไซเบอร์ เพื่อให้การใช้พื้นที่บนโลกไซเบอร์เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย

(2) “Practice” การแปลงนโยบาย/หลักการสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

(3) “Process” กระบวนการดำเนินงานในการขับเคลื่อนการปฏิบัติตามบรรทัดฐานความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ผ่านการเสริมสร้างความร่วมมือทั้งในระดับพหุภาคีและระดับภูมิภาค และ

(4) “People Partnership and Pandemic” การพัฒนาศักยภาพบุคลากร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและเตรียมความพร้อมต่อการปฏิบัติตามบรรทัดฐานขององค์การระหว่างประเทศ โดยการศึกษา ปรับปรุงกฎหมายในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ให้สอดคล้องตามบรรทัดฐานดังกล่าว พร้อมทั้งการเสริมสร้างความเข้มแข็งของหุ้นส่วนความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจาหรือองค์กรภายนอก เพื่อรับมือกับโลกไซเบอร์ต่อความท้าทายที่เกิดขึ้นใหม่ในปัจจุบันอย่างเป็นองค์รวม และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

…………………………………………………….

กลุ่มงานความร่วมมือระดับพหุภาคี กองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ตุลาคม 2563