นฤมล ปูทางพัฒนาฝีมือผู้ต้องขัง สร้างอาชีพหลังพ้นโทษ

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เผย ปูทางเสริมทักษะให้แก่ผู้ต้องขัง เพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ ให้มีอาชีพ มีรายได้ หาเลี้ยงตนเองและครอบครัวหลังพ้นโทษ

ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) มีเป้าหมายส่งเสริมและให้โอกาสการมีงานทำแก่ผู้ที่อยู่ในระหว่างกระบวนการพัฒนาพฤตินิสัย ให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้หลังพ้นโทษ ประกอบด้วย ผู้ที่อยู่ในความดูแลของกรมราชทัณฑ์ กรมควบคุมความประพฤติ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เพื่อให้กลุ่มบุคคลดังกล่าวเป็นพลเมืองดี มีความรู้ความสามารถด้านวิชาชีพ นำไปสู่การประกอบอาชีพ เพื่อสร้างรายได้ดูแลตนเองและครอบครัว ตลอดจนการเป็นกำลังแรงงานที่มีฝีมือต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

รมช.แรงงาน กล่าวต่อว่า รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีแนวทางนโยบายการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อพัฒนาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยความมั่นคง สังคมไทยมีความสงบสุข สามัคคีและเอื้ออาทร ให้คนไทยมีชีวิตที่ดีขึ้น เศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งและมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น การพัฒนาศักยภาพแรงงานให้มีความรู้ความสามารถ จึงไม่จำกัดอยู่เพียงแรงงานในระบบ นอกระบบหรือภาคเกษตรเท่านั้น แรงงานในกลุ่มเปราะบางอย่าง เช่น ผู้ต้องขังที่ใกล้พ้นโทษ ควรได้รับโอกาสพัฒนาทักษะฝีมือเพื่อเป็นแรงงานใหม่ที่มีคุณภาพ ไม่เป็นภาระของสังคม การเสริมทักษะฝีมือในระหว่างการพัฒนาพฤตินิสัยในเรือนจำ จึงมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้แรงงานเหล่านี้ได้พัฒนาตนเอง สามารถประกอบอาชีพอิสระได้เมื่อพ้นโทษ รวมถึงอยู่ร่วมกับสังคมอย่างปกติสุข

นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2563 มีเป้าหมายการฝึกอบรมให้แก่ผู้ต้องขังและเยาวชนในสถานพินิจ ผ่านโครงการฝึกอบรมแรงงานกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ จำนวน 1,440 คน ซึ่งมีผู้เข้ารับและผ่านการอบรม จำนวน 2,053 คน จากการสำรวจข้อมูลการติดตามการมีงานทำ พบว่า มีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนทั้งสิ้น 2,552 คน มีงานทำ 306 คน คิดเป็นร้อยละ 11.99 และมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 6,890 บาท หลักสูตรที่ดำเนินการฝึก เช่น การปูกระเบื้อง ช่างเดินสายไฟฟ้าภายในอาคาร การทำและปูพื้นด้วยอิฐคอนกรีตตัวหนอน โดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงานสุรินทร์ มีผู้ผ่านการฝึกอบรมจำนวน 110 คน การตัดเย็บเสื้อผ้าสตรี โดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 25 นราธิวาส มีผู้ผ่านการฝึกอบรมจำนวน 77 คน ช่างเย็บจักรอุตสาหกรรม(เสื้อผ้าสำเร็จรูป) เทคนิคการทำทองรูปพรรณ โดยสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานตาก มีผู้ผ่านการอบรมจำนวน 73 คน เป็นต้น ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ช่วยให้กลุ่มผู้ต้องขังสามารถสร้างอาชีพ มีรายได้หลังพ้นโทษ และได้รับโอกาสกลับคืนสู่สังคมอีกครั้ง

“หลักสูตรต่างๆ ที่ดำเนินการฝึกอบรมนั้น มีความสำคัญยิ่งต้องการส่งเสริมและให้โอกาสแก่ผู้ที่อยู่ในกระบวนการพัฒนาพฤตินิสัย ผู้ต้องขัง ตลอดจนผู้ถูกควบคุมความประพฤติในกรณีต่าง ๆ ที่ใกล้พ้นโทษ ให้มีโอกาสกลับคืนสู่สังคม สามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จะได้เดินหน้าสานต่อ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อกลุ่มคนดังกล่าว ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป” รมช. แรงงาน กล่าวในท้ายสุด

………………………..