ดย.พม. แถลงข่าว “มาตรการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก”

วันที่ 5 ตุลาคม 2563 ณ บริเวณโถงชั้น 1 อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แถลงข่าว “มาตรการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก” ร่วมกับ ศูนย์สุขภาพจิตที่ 4 กระทรวงสาธารสุข สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและบังคับคดีจังหวัดนนทบุรี และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์

นางสุภัชชา สุทธิพล อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน เปิดเผยว่า การคุ้มครองเด็กในประเทศไทย เป็นไปตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งประเทศไทยลงนามเป็นภาคีอนุสัญญา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 มีหลักการสำคัญที่จะต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กและมีการดำเนินการโดยไม่เลือกปฏิบัติ รวมถึงกำหนดให้รัฐภาคีจะต้องมีการดำเนินการที่เหมาะสมในทุกด้าน เพื่อคุ้มครองเด็กจากการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ ซึ่งการดำเนินงานภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กของประเทศไทย มีพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 เป็นกฎหมายหลักที่กำหนดขั้นตอนและวิธีปฏิบัติต่อเด็ก เพื่อให้เด็กได้รับการอุปการะเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน และมีพัฒนาการที่เหมาะสม รวมทั้งป้องกันไม่ให้ถูกทารุณกรรม ตกเป็นเครื่องมือในการแสวงประโยชน์ หรือถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม

จากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็ก กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กำหนดให้การช่วยเหลือและเยียวยาเด็กและผู้ปกครองของเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงหรือได้รับผลกระทบเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและจำเป็นเร่งด่วน เพื่อให้เด็กได้รับความปลอดภัยและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเด็ก อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯ ได้คำนึงถึงความจำเป็นที่จะต้องสร้างระบบการคุ้มครองเด็กที่ครอบคลุมและทั่วถึง ภายใต้กลไกการทำงานคุ้มครองเด็กที่เชื่อมโยงกันในทุกระดับตั้งแต่ระดับชาติ ระดับจังหวัด และระดับท้องถิ่น โดยการสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม สื่อมวลชน ตลอดจนบุคคลแวดล้อมเด็ก ได้แก่ ครอบครัวและชุมชน ที่ต่างก็มีบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้เด็กมีความปลอดภัยจากความรุนแรงทุกรูปแบบ โดยจะเน้นการทำงานร่วมกับหน่วยงานหลัก ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีเด็กในการดูแลและใกล้ชิดกับเด็ก โดยจะเน้นการทำงานที่บูรณาการกันมากขึ้นในทุกด้าน เพื่อร่วมกันกำหนดมาตรการเชิงป้องกัน การเฝ้าระวัง และมาตรการในการคุ้มครองช่วยเหลือเด็กที่เหมาะสมและครอบคลุม ซึ่งมีแผนการดำเนินงาน ดังนี้

1. เตรียมจัดประชุมหน่วยงานระดับนโยบายเพื่อบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานและภาคีเครือข่ายพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายการคุ้มครองเด็ก รวมทั้งกำกับดูแลให้การดำเนินงานของสถานศึกษาหรือสถานที่ที่มีเด็กในการดูแลทุกแห่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 และมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และองค์กรพัฒนาเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานการประชุม

ทั้งนี้ อาจนำเสนอตัวอย่างนโยบายการคุ้มครองเด็กของกรมกิจการเด็กและเยาวชน ซึ่งได้ประกาศไว้ใน ปี 2558 ประกอบด้วย 7 องค์ประกอบ ได้แก่
1) การรับบุคคลเข้าปฏิบัติหน้าที่ซึ่งต้องมีการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมและประเมินสุขภาพจิต
2) การฝึกอบรมให้ความรู้แก่บุคลากรเรื่องสิทธิเด็กและการคุ้มครองเด็กและให้ความรู้กับเด็กในการดูแลและปกป้องตนเอง
3) การจัดโครงสร้างระบบการคุ้มครองเด็กโดยมีเจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็กในองค์กร
4) การกำหนดข้อปฏิบัติต่อเด็กสำหรับบุคลากร
5) การกำหนดแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในการสื่อสารกับบุคคลภายนอกเพื่อปกป้องข้อมูลส่วนตัวของเด็ก
6) การรายงานและกระบวนการดำเนินการต่อเด็กเพื่อดำเนินการให้เด็กปลอดภัยในทันที และ
7) การมีแนวปฏิบัติเกี่ยวกับผลสืบเนื่องจากการกระทำผิดและการดำเนินการที่เหมาะสม

2. มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัดและผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร ในฐานะประธานกรรมการคุ้มครองเด็กกรุงเทพมหานคร กำกับดูแลการดำเนินงานของสถานศึกษาและสถานที่ที่มีเด็กในการดูแลทุกประเภทในเขตพื้นที่ให้มีการกำหนดมาตรการป้องกันและการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก และรณรงค์ให้ความรู้เพื่อสร้างความตระหนักเรื่องการไม่ใช้ความรุนแรงต่อเด็กทุกรูปแบบ รวมถึงประชาสัมพันธ์ข้อมูลช่องทางการแจ้งเหตุความรุนแรงต่อเด็กเพื่อให้เด็กได้รับการช่วยเหลือและคุ้มครองอย่างเหมาะสม

3. ร่วมเป็นคณะทำงานที่แต่งตั้งโดยกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อขับเคลื่อนศูนย์คุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาซึ่งถูกล่วงละเมิดทางเพศ (ศคพ.) ซึ่งมีการแต่งตั้งคณะทำงานมาตรการการปฏิบัติงานการป้องกันและแก้ไขปัญหานักเรียน นักศึกษาซึ่งถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดยมีกรมกิจการเด็กและเยาวชน เข้าร่วมเป็นคณะทำงาน มีการประชุมปฏิบัติการจัดทำมาตรการการปฏิบัติงานการป้องกันและแก้ไขปัญหานักเรียน นักศึกษาซึ่งถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดยเชิญหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานด้านเด็กเข้าร่วมให้ข้อคิดเห็น โดยหลังจากนี้จะมีแผนการขยายศูนย์ฯ ให้เป็นการคุ้มครองเด็กจากความรุนแรงในทุกรูปแบบ มาตรการในการดำเนินงานของ ศคพ. 3 ด้าน ได้แก่
มาตรการด้านการป้องกัน สร้างภูมิคุ้มกันและเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้กับนักเรียนนักศึกษา โดยเน้นให้สถานศึกษาดูแลนักเรียน นักศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษาในรับผิดชอบ ตลอดจนสภาพแวดล้อมในโรงเรียนให้ไม่เอื้อต่อการล่วงละเมิดทางเพศและการกระทาผิดอื่น ๆ
มาตรการด้านการปราบปราม หากสถานศึกษาหรือหน่วยงานทางการศึกษาพบว่ามีข้อร้องเรียนเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ หรือมีการเผยแพร่ผ่านสื่อสาธารณะในวงกว้างผู้มีอำนาจคือเขตพื้นที่ ต้องสั่งให้ผู้ถูกกล่าวหาย้ายไปประจำเป็นการชั่วคราว จากนั้นจึงแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบให้ได้ข้อเท็จจริงทันที และหากผลการตรวจสอบพบว่าข้อร้องเรียนนั้นมีมูลความจริง ให้ผู้มีอำนาจสั่งตั้งกรรมการวินัยร้ายแรงและให้ผู้กระทาผิดออกจากราชการไว้ก่อน ขั้นตอนทั้งหมดมีเป้าหมายให้เสร็จภายใน 24 ชั่วโมง แล้วรายงานหน่วยงานต้นสังกัดส่วนกลางและแจ้งข้อมูลมายัง ศคพ. เมื่อ ศคพ.ได้รับเรื่องแล้วจะเสนอไปยังสานักงานเลขาธิการคุรุสภาเพื่อขอให้พักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพของผู้กระทำผิดเป็นการชั่วคราว โดย ศคพ. จะเร่งรัดให้มีการดำเนินการทางวินัยควบคู่กับการดำเนินการด้านคดีอาญาด้วย
มาตรการด้านการคุ้มครองและช่วยเหลือ ให้สถานศึกษาต้องประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยดูแลเยียวยานักเรียนนักศึกษาผู้ถูกล่วงละเมิดอย่างรวดเร็ว ทันท่วงที นอกจากนี้ยังต้องคุ้มครองผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศทุกคนให้ได้รับการบำบัดฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจ ไม่ละทิ้งให้เขาต้องอยู่ในสภาพยากลำบากโดยลำพัง และต้องประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน

4. กำหนดประกาศนโยบายการคุ้มครองเด็กให้แก่ 107 หน่วย เพื่อเน้นย้ำให้หัวหน้าหน่วยและบุคลากร ปฏิบัติงานโดยความเป็นมืออาชีพ ยึดนโยบายการคุ้มครองเด็กเป็นกรอบแนวทางการปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานเพื่อให้มีมาตรการเชิงป้องกันและคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก ได้แก่
• จัดทำและประชาสัมพันธ์ช่องทางรับแจ้งเหตุ 4 ช่องทาง ได้แก่ อีเมล โทรศัพท์ ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 และบ้านพักเด็กและครอบครัวทุกแห่งทั่วประเทศ
• บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานและภาคีเครือข่ายพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายการคุ้มครองเด็ก รวมทั้งกำกับดูแลให้การดำเนินงานของสถานศึกษาหรือสถานที่ที่มีเด็กในการดูแลทุกแห่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 และมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ

ความร่วมมือในการทำงานอย่างเข้มแข็งของทุกหน่วยงานรวมทั้งการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนนโยบายคุ้มครองเด็กในสถานศึกษาและสถานที่ที่มีเด็กในการดูแลทุกแห่ง จะช่วยให้เด็กได้รับการปกป้องคุ้มครอง และช่วยเหลือให้ปลอดภัยได้อย่างทันท่วงที ทำให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกลายเป็นกรณีสุดท้ายได้อย่างแท้จริง

………………………………………………………..