สสส. ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและสื่อออนไลน์ได้อย่างเหมาะสม

วัยเก๋าสร้างสุข ฉุกคิดก่อนแชท

“สวัสดีวันจันทร์ จะส่งต่อให้เพื่อนยังไง”

“ทำไม พ่อกดส่งแล้วข้อความไม่ไป”

“สติ๊กเกอร์ รูปภาพสวยๆ ที่เพื่อนส่งมา แม่อยากได้บ้าง”

หลากหลายคำถาม ที่ผู้สูงอายุยุคใหม่มักจะถามลูกหลานในเรื่องของเทคโนโลยีปัจจุบัน ที่ต้องยอมรับว่าเข้ามามีอิทธิพลอย่างมากต่อทุกช่วงวัย ไม่เว้นแต่ผู้สูงอายุ

“อยู่บ้านมันเหงา” เป็นสิ่งที่ผู้สูงอายุหลายคนต้องพบเจอ จึงต้องหากิจกรรมต่างๆ เพื่อคลายเหงา อย่างกิจกรรมทางกายที่ช่วยเสริมสร้างสุขภาพ นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งสิ่งที่ช่วยสร้างสุขให้จิตใจกระชุ่มกระชวยและไม่เหงาได้เช่นกัน นั่นคือ การเข้าถึงโซเชียลมีเดีย

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สสส.) กล่าวถึงความสำคัญของการมีกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุ ในงานเสวนา ‘What & Why Active Aging in Thailand อนาคตของชาวสูงวัยที่เปลี่ยนความแอคทีฟให้เป็นพลัง’ ว่า Active Aging สสส. มองว่า เป็นคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่ยังแข็งแรง สดชื่น เป็นที่พึ่งของคนในครอบครัว มีกิจกรรมต่อเนื่องในชุมชน เป็นหลักชัยของคนในครอบครัวและสังคมได้  หากผู้สูงอายุไม่ Active จะมีผลต่อสุขภาพกายอย่างมาก เพราะเมื่ออายุ 60 ปี ทุกคนจะมีความเสื่อมสมรรถภาพทางกาย หากไม่ Active หรือมีกิจกรรมทางกาย อาจทำให้รู้สึกเหงา

“ สสส. เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่สร้างเสริมสุขภาพ โดยจะมองภาพรวมตั้งแต่ก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ นั่นคือ ส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ลดปัจจัยเสี่ยง เตรียมพร้อมสู่วัยสูงอายุ  สสส.เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบกิจกรรมทางกาย ให้มีการทำกิจกรรมร่วมกัน ลดช่องว่างระหว่างวัย และเสริมความเข้มแข็งให้องค์กรต่างๆ เช่น โรงเรียนผู้สูงอายุ โดยถอดความรู้ และจัดทำหลักสูตร นำไปสู่การสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ” นางภรณี กล่าว

ผลสำรวจการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน พ.ศ.2560  โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า ผู้สูงอายุในไทย 75 % ใช้สื่อโซเชียลมีเดียโดยรู้ไม่เท่าทัน โดยสื่อที่ผู้สูงอายุใช้งานมากที่สุด ได้แก่ Line 52% จากสถิติดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า แอปพลิเคชัน Line ยังคงได้รับความนิยม และผู้สูงอายุมักจะสื่อสารผ่านช่องทางนี้

 5 Tips ต้องใช้ ตอบ Line ยังไงให้อีกฝ่ายแฮปปี้

คู่มือท่องโลกออนไลน์ฉบับวัยเก๋า โดย Young Happy ร่วมกับ สสส. ได้แบ่งปันเคล็ดลับดีๆ  เพื่อรักษาชุมชนการแชทให้เป็นสังคมที่น่าอยู่และแฮปปี้ โดย

1. ส่งสติ๊กเกอร์แทนความรู้สึก การส่งสติ๊กเกอร์เป็นหนึ่งในฟังก์ชันที่ทำให้ไลน์เป็นที่นิยมในกลุ่มผู้ใช้ทุกช่วงวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุก็ว่าได้ เพราะว่ามีให้เลือกโหลดมากมาย ลองเลือกใช้สติ๊กเกอร์ส่งแทนความรู้สึกดีๆ  เพราะความน่ารักของตัวการ์ตูนบวกกับข้อความ จะช่วยให้ผู้รับรู้สึกดีที่ได้เห็นสติ๊กเกอร์นั้นๆ

2. ใช้อีโมจิสื่ออารมณ์ การใช้อีโมจิหรืออักษรภาพ เป็นการใช้เพื่อสื่ออารมณ์ผ่านข้อความ ซึ่งจะแตกต่างกับการส่งสติ๊กเกอร์ เพราะอีโมจิสามารถแทรกเข้าไประหว่างข้อความที่พิมพ์ สามารถเลือกใช้แทนการพิมพ์ข้อความ จะช่วยสื่ออารมณ์ให้ผู้อ่านมากขึ้น

3. ลงท้ายหางเสียงให้เหมือนพูด การลงท้ายประโยคด้วยหางเสียง เช่น ครับ, ค่ะ, นะครับ, นะคะ, นะจ๊ะ, จ้ะ, จ้า จะช่วยให้ผู้อ่านรู้สึกถึงความสุภาพและความเป็นกันเองได้มากขึ้น และยังช่วยให้บรรยากาศในการแชทอบอุ่นมากขึ้นด้วย

4. ยังไม่สะดวกตอบ ก็ยังไม่ต้องอ่าน เมื่อยังไม่สะดวกตอบ ก็ยังไม่ต้องเปิดเข้าไปอ่าน หรือถ้าเป็นธุระสำคัญก็ให้พิมพ์ทิ้งไว้ว่า “เดี๋ยวจะกลับมาตอบนะ” เพื่อให้อีกฝ่ายรู้สึกสบายใจขึ้น

5. ก่อนจะกดส่งลองอ่านซ้ำอีกครั้ง ลองอ่านประโยคที่กำลังพิมพ์ โดยออกเสียงเหมือนตอนพูดดู ว่ายังรู้สึกแข็งๆ ไม่รื่นหู ก็ให้เลือกใช้คำที่สุภาพหรือเป็นกันเองมากขึ้น คนที่อ่านจะได้รับรู้ถึงน้ำเสียงที่บอกไปได้

สสส. ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและสื่อออนไลน์ได้อย่างเหมาะสม ช่วยให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตในโลกออนไลน์ได้อย่างมีความสุข ปลอดภัย และรู้เท่าทันสถานการณ์ต่างๆ มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม คุณพี่ๆ สูงวัยทั้งหลายก่อนจะแชท หรือระหว่างแชท พักออกกำลังกายสักนิด เพิ่มกิจกรรมทางกาย นอกจากความแฮปปี้ทางใจแล้ว ยังเพิ่มความแข็งแรงให้ร่างกายอีกด้วย

……………………………………….

เรื่องโดย เทียนทิพย์  เดียวกี่ Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลบางส่วนจาก  คู่มือท่องโลกออนไลน์ฉบับวัยเก๋า