อธิบดี พช. ร่วมสืบสานประเพณีชอนธูป เนื่องในวันออกพรรษา ของไทยรามัญ หนึ่งเดียวในโลก วัดปรมัยยิกาวาสวรวิหาร เกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

วันที่ 2 ตุลาคม 2563 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เดินทางมาร่วมทำบุญเนื่องในโอกาสวันออกพรรษา ณ วัดปรมัยยิกาวาสวรวิหาร ต.เกาะเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี พร้อมด้วยนายบรรหาญ เนาวรัตน์ นายกอบต.โก่งธนู นางแสงจันทร์ ระวังกิจ ปลัดอบต. โก่งธนู พร้อมคณะผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู (ทีมงานโก่งธนูโมเดล) อ.เมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี โดยมีนางรักใจ กาญจนะวีระ พัฒนาการจังหวัดนนทบุรี พร้อมด้วยทีมงานสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนนทบุรี และนายสุรฉัตร ชยากร ปราชญ์ชุมชนเกาะเกร็ด ร่วมให้การต้อนรับ

ในการนี้ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมทำบุญ ฟังเทศน์ภาษารามัญ และได้ร่วมถวายภัตตาหารเพล นอกจากนี้ยังได้ร่วมสืบสานวัฒนธรรมประเพณีทำบุญตักบาตรชอนธูป พร้อมเป็นผู้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ นำขบวนเพื่อรับดอกไม้ ธูป เทียน จากผู้มีจิตศรัทธา ตามพิธีดั้งเดิมของไทยรามัญในพื้นที่เกาะเกร็ดแห่งนี้

สำหรับ ประเพณีชอนธูป เป็นประเพณีที่ชาวไทยรามัญ(มอญ) บนเกาะเกร็ด จัดขึ้นในวันออกพรรษา วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ณ วัดปรมัยยิกาวาสวรวิหาร ซึ่งมีมาแต่โบราณ เพียงหนึ่งเดียวในโลก แต่เดิมเน้นถวายกันเฉพาะธูปเป็นหลัก ต่อมาภายหลังได้ถวายดอกไม้และเทียนเพิ่มขึ้น ชนรุ่นหลังจึงเรียกว่าตักบาตรดอกไม้ อันมีคติความเชื่อมาจากพุทธประวัติ เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์เสด็จกลับจากโปรดพุทธมารดาบนเทวโลก พระมหากษัตริย์และประชาชนจึงพากันนำดอกไม้และเครื่องสักการะบูชาต่าง ๆ มาเฝ้าถวายการต้อนรับ เมื่อพระสงฆ์รับดอกไม้ธูปเทียน และเดินเข้าสู่อุโบสถแล้ว พระสงฆ์จะทำพิธีปวารณาออกพรรษา ซึ่งถือเป็นกิจของสงฆ์

โอกาสนี้ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้เยี่ยมชมบริเวณวัดปรมัยยิกาวาสวรวิหาร เป็นที่หล่อพระพุทธรูปประจำจังหวัดนนทบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2443 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานนาม “พระนนทมุนินทร์” และทรงยกให้เป็นพระพุทธรูปประจำจังหวัดนนทบุรี พร้อมเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ภายในวัด ซึ่งจัดแสดงประวัติของวัดปรมัยยิกาวาสวรวิหาร เครื่องปั้นดินเผา และข้าวของเครื่องใช้ ซึ่งเป็นศิลปวัฒนธรรมรามัญ เกาะเกร็ดที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ

จากนั้น อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เดินเยี่ยมชมชุมชนเกาะเกร็ด พร้อมมีแนวคิดที่จะส่งเสริมและสนับสนุนการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมประเพณีพื้นถิ่นของชาวไทยรามัญบนเกาะเกร็ด โดยเฉพาะภาษารามัญให้คงอยู่คู่เกาะเกร็ดอย่างยั่งยืนถึงลูกหลานสืบไป

…………………………………………………………………………………