เลขาฯ อย. ชู 5 S พร้อม 7 ประเด็นหลัก คุ้มครองผู้บริโภค และขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

อย. ชูแนวทาง 5 S พร้อมให้ความสำคัญสูงสุดต่อการพัฒนางานสาธารณสุขตามแนวพระราชดำริ และโครงการเฉลิมพระเกียรติ รวมถึงมุ่งดำเนินการ 7 เรื่องสำคัญ เพื่อให้ผู้บริโภคปลอดภัย ผู้ประกอบการ ก้าวไกล ระบบคุ้มครองสุขภาพไทยยั่งยืน

วันที่ 2 ตุลาคม 2563 นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา มอบแนวทางการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยชูแนวทาง 5 S ได้แก่ Speed ลดขั้นตอนการให้บริการ ปรับกระบวนงานอนุมัติ/อนุญาตให้รวดเร็ว และเพิ่มประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล Safety สร้างความรอบรู้ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ สร้างระบบเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพ และเน้นการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด Satisfaction ให้บริการแบบมืออาชีพ โปร่งใสและตรวจสอบได้ Supporter สนับสนุนให้ภาคธุรกิจเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ Sustainability สร้างความมั่นคงทางยาและเวชภัณฑ์ เพิ่มศักยภาพการจัดการในภาวะฉุกเฉิน และทำให้บุคลากรมีความเชี่ยวชาญในงานและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้ อย. พร้อมให้ความสำคัญสูงสุดต่อการพัฒนางานสาธารณสุขตามแนวพระราชดำริ และโครงการเฉลิมพระเกียรติ รวมถึงมีแนวนโยบายในการดำเนินงานในประเด็นที่สำคัญ 7 เรื่อง (7 Flagship Projects) ได้แก่

1. สร้างความมั่นคงด้านยาและเวชภัณฑ์ในภาวะฉุกเฉิน ส่งเสริมการผลิตในประเทศ และอำนวยความสะดวกในการนำเข้า

2. ผลักดันสมุนไพร กัญชา กัญชง เพื่อสุขภาพ และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ

3. พิจารณาอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างรวดเร็ว โปร่งใส และพัฒนา e-Submission ทุกกระบวนงาน ปฏิบัติงานเป็นมาตรฐานเดียวกัน

4. จัดการปัญหาโฆษณา จัดการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ และตอบโต้ทันเหตุการณ์

5. สร้างความรอบรู้ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพให้ประชาชนรู้เท่าทันสื่อ เพื่อให้ไม่หลงเชื่อข่าวปลอม สามารถตัดสินใจเลือกบริโภคอย่างปลอดภัย

6. ปรับเปลี่ยน อย. สู่องค์กรดิจิทัล

7. สร้างศักยภาพให้บุคลากร อย. เชี่ยวชาญด้านคุ้มครองผู้บริโภค และสามารถเป็นผู้ตรวจประเมินภายใน (internal Reviewer) ที่เชี่ยวชาญ

เลขาธิการฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า อย. มุ่งขับเคลื่อนองค์กร โดยทำงานบูรณาการแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ มีการประสานความร่วมมือกับเครือข่ายทั้งภายในและภายนอก มีการกำหนดผู้รับผิดชอบโครงการเพื่อขับเคลื่อนและติดตามผล รวมทั้งจะมีการควบคุมกำกับอย่างใกล้ชิดเพื่อให้เห็นผลงานอย่างชัดเจนเป็นระยะ โดย อย. มุ่งผลสำเร็จสูงสุดในการทำให้ผู้บริโภคปลอดภัย ผู้ประกอบการก้าวไกล และระบบคุ้มครองสุขภาพไทยยั่งยืน
……………………………………………………………….