ก.แรงงาน จับมือ บสย. หนุนสินเชื่อ ปั้นแรงงานสู่ Startup

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานลงนาม MoU พัฒนาทักษะและส่งเสริมการประกอบอาชีพ ดันแรงงานคุณภาพสู่ผู้ประกอบการ

วันที่ 2 ตุลาคม 2563 ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการพัฒนาทักษะและส่งเสริมการประกอบอาชีพ ระหว่าง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กับ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) โดยมีนายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และนายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม เป็นผู้ลงนาม รวมถึงหม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน และนางต้องใจ สุทัศน์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน ให้เกียรติเข้าร่วมพิธี ณ โรงแรม มิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

ศาสตราจารย์ นฤมล กล่าวว่า สืบเนื่องจากรัฐบาลโดยการนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายในการให้การช่วยเหลือ จัดสวัสดิการส่งเสริม การเข้าถึงแหล่งเงินทุน และส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งเป็นอาชีพที่มีอิสระในการกำหนดรูปแบบและวิธีดำเนินงานของตนเอง โดยเลือกอาชีพที่ชอบหรือคิดว่าตัวเองถนัด ต้องพัฒนาความสามารถของตัวเอง ศึกษารายละเอียดของอาชีพและเข้าฝึกอบรมจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่สำคัญ ทำให้ประชาชนมีงานทำ มีรายได้ และบรรเทาปัญหาการว่างงาน กพร. และ บสย. จึงได้ตกลงร่วมมือกันส่งเสริมและสนับสนุนการเป็นผู้ประกอบกิจการให้แก่กลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งผ่านการฝึกอบรมฝีมือแรงงานจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เช่น ช่างชุมชน ช่างไฟฟ้า ช่างประปา ช่างซ่อมรถ ช่างเครื่องปรับอากาศ ช่างตัดผม ช่างก่อสร้าง เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และทักษะความสามารถจนสามารถไปประกอบอาชีพหรือประกอบกิจการของตนเองและให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ รวมถึงช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานให้มีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว ลดความเหลื่อมล้ำ และรองรับการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย

รมช. แรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ท่านรองนายกรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้เน้นย้ำถึงการมีงานของแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบการพัฒนาทักษะแรงงานรองรับอุตสาหกรรมกลุ่มเป้าหมาย s-curve ซึ่งคณะอนุกรรมการจะต้องเร่งจัดทำแผนการดำเนินงาน เพื่อพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันยังมีแรงงานบางกลุ่มโดยเฉพาะแรงงานกลุ่มอาชีวะ และปริญญาตรี ที่ยังมีทักษะแรงงานที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังเห็นชอบแนวทางการพัฒนาอาชีพคนพิการ เนื่องจากปัจจุบันยังมีคนพิการกว่า 5.5 แสน คนที่มีข้อจำกัดในการทำงาน ซึ่งอาจเกิดจากตำแหน่งงานที่มีไม่สอดคล้องกับคนพิการ หรือคนพิการไม่สะดวกในการเดินทางไปทำงาน ทั้งนี้กระทรวง พม และกระทรวงแรงงานจะวางแผนให้ความช่วยเหลือคนพิการให้มีทักษะอาชีพ โดยอาจจะเป็นอาชีพอิสระ ซึ่งการประกอบอาชีพอิสระนี้จำเป็นต้องใช้แหล่งเงินทุน จึงหวังว่าการลงนาม MoU ในวันนี้ จะเกิดประโยชน์แก่แรงงานกลุ่มนี้เช่นกัน

“ความร่วมมือดังกล่าว กพร. จะได้สนับสนุนการจัดฝึกอบรมหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการเป็นผู้ประกอบกิจการต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระและจะรวบรวมรายชื่อผู้ผ่านการฝึกอบรมและมีความต้องการกู้ยืมเงินจากธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ โดย บสย. จะประสานสถาบันการเงินต่าง ๆ จำนวน 19 แห่ง เช่น ธนาคารออมสิน ธกส. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย เป็นต้น ในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินดังกล่าว และ บสย. จะเป็นผู้ค้ำประกันสินเชื่อแก่ผู้ที่สนใจจะประกอบอาชีพ และสนับสนุนวิทยากรให้คำปรึกษาการบริหารเงิน รวมถึงการเริ่มต้นธุรกิจเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ (Startup)” รมช. แรงงาน กล่าวในท้ายสุด

สำหรับกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การให้คำปรึกษาด้านสินเชื่อ โดย บสย. ตัวอย่างการประกอบอาชีพ ได้แก่ ช่างเชื่อม ช่างไฟฟ้า ช่างประปาและสุขภัณฑ์ ช่างเครื่องปรับอากาศ อาชีพอิสระในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาหาร โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และนิทรรศการการดำเนินงานด้านสินเชื่อ SMEs ของสถาบันการเงิน ประกอบด้วย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ธนาคารทิสโก้ ธนาคารไทยเครดิต เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การให้สินเชื่อแก่ผู้ที่สนใจ

………………………………………………….