ก.แรงงาน จับมือ บสย. โดนใจแรงงาน พัฒนาอาชีพฟรี เข้าถึงแหล่งเงินทุนต่อยอดชีวิตมั่นคง

วันที่ 2 ตุลาคม 2563 ณ ห้องเมจิก โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวชั่น กรุงเทพมหานคร ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนาทักษะและส่งเสริมการประกอบอาชีพ ระหว่างนายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กับนายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม โดยมี นายชาคริตย์ เดชา รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และนายวิรชาติ อินทร์กง ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม เป็นพยานในการลงนาม

ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงแรงงาน เปิดเผยหลังจากเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่า ความร่วมมือระหว่างกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)ในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการช่วยเหลือกำลังแรงงานและประชาชน ให้มีอาชีพที่มั่นคง ยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงาน ให้มีรายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัว รองรับการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจ ด้วยการจัดสวัสดิการ ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการประกอบอาชีพอิสระ

โดยทั้งสองหน่วยงานจะร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนการเป็นผู้ประกอบกิจการให้แก่กลุ่มแรงงานที่ผ่านการฝึกอบรมทักษะฝีมือแรงงานกับหน่วยงานของกพร. สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) “โดยบสย. จะเป็นผู้ค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ผู้ผ่านการฝึกอบรมที่มีความประสงค์จะกู้เงินเพื่อต่อยอดประกอบอาชีพอิสระหรือเป็นผู้ประกอบการ SMEs รวมถึงสนับสนุนวิทยากรให้คำปรึกษาและเชิญสถาบันการเงินหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความรู้เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การให้สินเชื่อ”

นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า กพร. มีความยินดีเป็นอย่างมากที่ได้ร่วมกับบสย. และสถาบันการเงิน ในการยกระดับการพัฒนาฝีมือแรงงาน ที่เปิดโอกาสให้ผู้ผ่านการฝึกอบรม เช่น ช่างเครื่องปรับอากาศ ช่างเชื่อม ช่างปูกระเบื้อง ช่างทาสีอาคาร ช่างเดินสายไฟฟ้าภายในอาคาร ช่างควบคุมเครื่องกัดและเครื่องกลึง CNC เป็นต้น ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพ ผ่านการค้ำประกันสินเชื่อของบสย. โดยบสย.ประสานสถาบันการเงินที่พร้อมจะให้สินเชื่อแก่ผู้ผ่านการฝึกอบรม จำนวน 19 แห่ง เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารเกียรตินาคิน เป็นต้น ในปี 2563 มีกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นผู้ผ่านการฝึกอบรมจำนวน 17,427 คน

……………………………………………………………………