รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนแผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขผ่าน 5 กิจกรรม ทั้งโรคระบาดอุบัติใหม่ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง สังคมผู้สูงอายุ ระบบหลักประกันสุขภาพ และเขตสุขภาพ ด้านคณะกรรมการปฏิรูปฯ เสนอแก้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ 12 ข้อ แยกงบป้องกันโรคออกจากงบรักษาเพิ่มสัดส่วนเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ ขับเคลื่อนงาน HR ทุกองค์กรทำเรื่องส่งเสริมสุขภาพ เดินหน้าการรักษาที่บ้าน นำเสนอที่ประชุมร่วมปฏิรูปประเทศ 15 ตุลาคมนี้
วันที่ 2 ตุลาคม 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ศ.คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์อุดม คชินทร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ประชุมหารือขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ร่วมกับผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข และกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วันนี้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ได้นำเสนอแผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขฉบับปรับปรุงใหม่ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี หลังจากที่มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นไปแล้วเมื่อวันที่ 2-3 กันยายน 2563 โดยนำแผนปฏิรูปประเทศของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขชุดนายแพทย์เสรี ตู้จินดา เป็นประธาน ซึ่งมี4 ด้าน 10 ประเด็น มาปรับปรุงต่อยอดเป็นกิจกรรมการปฏิรูป 5 ด้าน ได้แก่ 1.การจัดการภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข โรคระบาดระดับชาติและโรคอุบัติใหม่ 2.โรคไม่ติดต่อเรื้อรังและการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค 3.ระบบบริการสุขภาพผู้สูงอายุด้านการบริบาล การรักษาพยาบาลที่บ้านหรือชุมชน 4.ระบบหลักประกันสุขภาพเพื่อความเป็นเอกภาพและยั่งยืน และ 5.ระบบบริหารจัดการเขตสุขภาพแบบบูรณาการให้มีความคล่องตัวร่วมกับท้องถิ่น
นายอนุทิน กล่าวว่า แผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขดำเนินการเป็นทีม โปร่งใส เปิดเผย และชัดเจน โดยเป็นการปฏิรูประบบสาธารณสุขทั้งประเทศ ไม่ใช่การปฏิรูปแค่กระทรวงสาธารณสุข แต่รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย โดยกระทรวงสาธารณสุขพร้อมให้ความร่วมมือในการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศและประชาชน จะใช้จุดแข็งทุกด้านของระบบสาธารณสุขในการผลักดันให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น ซึ่งได้ให้ข้อเสนอว่า การปฏิรูปต้องคำนึงถึงเรื่องการวิจัยและพัฒนาระบบสาธารณสุข ทั้งด้านยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางด้านสุขภาพของประเทศ รวมถึงต้องใช้วิกฤตของโรคโควิด 19 มาพัฒนาระบบสาธารณสุขของไทยให้เป็นตัวนำทุกสิ่งในการพัฒนาประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวิถีชีวิต หากมีพื้นฐานระบบสาธารณสุขที่ดีจะเป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง ซึ่งตนพร้อมที่จะช่วยผลักดันในการนำเสนอแผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
ด้าน ศ.คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์อุดม คชินทร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข กล่าวว่า การปฏิรูปการจัดการภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข โรคระบาดระดับชาติและโรคติดต่ออุบัติใหม่ มีเป้าหมายให้เกิดระบบการจัดการที่ครบวงจรและบูรณาการของประเทศ ตอบโต้ภาวะฉุกเฉินได้ทุกภัยในปี 2564 และมีข้อเสนอ 12 ข้อในการปรับปรุง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ให้แล้วเสร็จภายในปี 2565 เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่ครอบคลุม ไม่สามารถบัญชาหน่วยงานต่างๆ ให้เกิดการบูรณาการขึ้นได้ จึงเป็นที่มาของการต้องใช้ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งการแก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 จะเป็นการรับมือกับโรคระบาดอื่นๆ ในอนาคตด้วย
สำหรับการปฏิรูปเรื่องโรคไม่ติดต่อ เนื่องจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนทั่วโลกและคนไทย โดยมากกว่าร้อยละ 50 มาจากพฤติกรรมสุขภาพ โดยประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคอ้วนรายใหม่ในรอบ 5 ปี จำนวน 1.5 ล้านคน และโรคความดันโลหิตสูงรายใหม่ 2 ล้านคน เกิดค่าใช้จ่ายในการรักษาจำนวนมาก หากมีการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคที่ดี จะช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้มาก จึงเสนอปรับสัดส่วนงบประมาณ โดยงบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคจากเดิมที่อยู่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ และงบรักษาพยาบาล 70 เปอร์เซ็นต์ เป็น 35 เปอร์เซ็นต์ และแยกงบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคออกจากงบรักษาพยาบาล นอกจากนี้ จะส่งเสริมให้ประเทศไทยมีนโยบายในที่ทำงาน (Workplace Policy) โดยให้ทุกองค์กรทั้งรัฐและเอกชนในส่วนของงานทรัพยากรบุคคล (HR) ดูแลส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคบุคลากรของตนเอง
ขณะที่เรื่องผู้สูงอายุตั้งเป้าหมายให้มีการบริบาล การรักษาพยาบาลที่บ้าน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการ โดยบูรณาการร่วมกับทีมแพทย์ประจำครอบครัว โดยนำระบบนี้ไปใช้ทั่วประเทศภายในปี 2565 ในการปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพจะบูรณาการระบบบริหารจัดการ 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ ได้แก่ กองทุนสวัสดิการข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้เป็นเอกภาพ มีกลไกการจ่ายเพื่อใช้ร่วมกันในการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคและการดูแลระยะยาวที่บ้านหรือชุมชน สำหรับการปฏิรูปเขตสุขภาพเน้นให้มีความคล่องตัว รับผิดชอบร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดูแลสุขภาพประชาชน ทั้งด้านบุคลากร งบประมาณ และทรัพยากรต่างๆ โดยจะนำร่องในเขตสุขภาพ 4 แห่งในปี 2564
ทั้งนี้ แผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขจะเสนอให้ที่ประชุมร่วมประธานกรรมการปฏิรูปประเทศทุกคณะพิจารณาในวันที่ 15 ตุลาคม 2563 หากผ่านจะนำเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาในต่อไป และนำเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรีพิจารณาภายในเดือนพฤศจิกายน 2563 หากเห็นชอบจะรายงานรัฐสภาทราบและประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาภายในเดือนธันวาคม 2563 ตามลำดับ
………………………………………………….